AAV คาดเม็ดเงินใหม่ขาย IPO ไทยแอร์เอเชีย-เงินกู้รวม 6 พันลบ.พร้อมโตแบบเร่งตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 29, 2021 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างกิจการโดยจะนำบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน AAV ที่จะเลิกกิจการไป คาดว่าขั้นตอนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จะได้รับเงินราว 3 พันล้านบาทในช่วงปลายปี 64 หรือต้นปี 65

ขณะที่ TAA จะได้รับเงินกู้จากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้กับนักลงทุนรายใหม่ จำนวน 3,150 ล้านบาท ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.64 ทั้งหมดจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ TAA และบางส่วนนำไปชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระคืนในปีนี้ ทำให้รวมแล้วจะได้รับเงินเข้ามาทั้งหมด 5,907 ล้านบาท เพียงพอกับการใช้ดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีที่การระบาดโควิด-19 จะคลี่คลาย และรับธุรกิจการบินที่จะกลับมาเป็นปกติ

"เชื่อว่าดีลที่ทำเป็นสิ่งที่คณะผู้บริหาร และ FA (บล.บัวหลวง) คิดตกผลึกแล้วว่าเป็นดีลที่ดีที่สุด ต้นทุนการเงินถูกสุด กระทบผู้ถือหุ้นน้อยสุด มีเงินเข้ามา 6 พันล้านบาททำให้เราอยู่ต่อได้อย่างยั่งยืน คาดเปิดประเทศได้เร็วๆนี้หารายได้เข้าประเทศ อยากให้ทุกคนให้ความเชื่อมั่นทำดีที่สุด"นายธรรศพลฐ์ กล่าว

ประธานกรรมการบริหาร AAV กล่าวว่า นักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาให้เงินกู้ใหม่ในรูปแบบหุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นนักลงทุนรายบุคคลที่ไม่ใช่อยู่ในวงการธุรกิจการบินที่สนิทกัน ซึ่งได้เริ่มพูดคุยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องโน้มน้าวมาก เพราะเห็นแนวโน้มว่าเป็นการลงทุนเหมาะสม ถ้าเป็นตนเองมีเงินสดก็คงลงทุนเช่นกัน ส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ก็ยังต้องการอยู่

"ผมไม่นั่งงอมืองอเท้า ไม่อย่างนั้นบริษัทก็เจ๊งไปแล้ว เราไม่ได้รอรัฐบาลอย่างเดียว ความอดทนก็มีจำกัด"นายธรรศพลฐ์ กล่าว

หลังการปรับโครงการกิจการ และหลังการเพิ่มทุนของ ไทยแอร์เอเชีย จะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้น ไทยแอร์เอเชีย เป็นดังนี้ กลุ่มทุนใหม่ 11% บริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด จากมาเลเซีย คงสัดส่วน 45% ผู้ถือหุ้นเดิม AAV สัดส่วน 24% (จากการแปลงหุ้น AAV สัดส่วน 59%) และส่วนที่เตรียมจะเสนอขาย IPO โดยคาดว่าราคาเสนอขาย IPO จะเท่ากับราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 20.3925 บาทต่อหุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท

ประธานกรรมการบริหาร AAV กล่าวว่า แต่เดิมที่ต้องนำ AAV เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ แต่หลังจากมีการปรับแก้กฎหมายที่สามารถนับกองทุนในประเทศที่ถืออยู่มานับเป็นผู้ถือหุ้นไทยได้ ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดย AAV เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นไทยแอร์เอเชีย 55% ไม่ได้มูลค่าตลาดเต็มของไทยแอร์เอเชีย แต่เมื่อเป็นไทยแอร์เอเชียจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มมากขึ้น

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า บริษัทจะเตรียมความพร้อมกับการเปิดประเทศ เราจำเป็นต้องทำให้ตัวเราแข็งแรงถ้ากลับมาบินได้ 100% คาดว่าไทยแอร์เอเชียจะบินต่างประเทศในไตรมาส 1/65 หรือไตรมาส 2/65 บริษัทจะเร่งอัตราการเติบโตของบริษัท ขณะที่มองว่าหลายสายการบินจะไม่กลับมาแข็งแรงจากช่วง 2 ปีนี้รับกระทบจากการระบาดโควิด-19 ดังนั้น เชื่อว่าผลประกอบการในปี 65 และคาดว่าจะเปิดน่านฟ้า 100% ในปี 66 ซึ่งก็น่ากลับมามีกำไร ส่วนในปี 64 คาดว่าขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุน 4,764 ล้านบาท

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV กล่าวว่า ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 สายการบินไทยแอร์เอเชียได้ปรับลดการใช้เครื่องบินเหลือ 15-20 ลำในเดือน เม.ย.64 จากเดือน มี.ค.64 ที่ใช้เครื่องบิน 30 ลำ เพราะความต้องการเดินทางน้อยลง โดยกำลังทบทวนเป้าหมายปี 64 ที่วางไว้มีจำนวนผู้โดยสาร 9.4 ล้านคน อาจจะต้องขอรอดูผลกระทบว่ารุนแรงแค่ไหนใน 2-3 เดือนนี้ ขณะที่จำกัดค่าใช้จ่ายไว้เดือนละ 200 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับรายได้

นอกจากนี้ จะมีกำหนดคืนการเช่าเครื่องบิน 6 ลำในปีนี้ จะทำให้สื้นปี 64 มีจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 54 ลำ ทั้งนี้ หากเปิดบินในเส้นทางต่างประเทศก็ยังเพียง เพราะขณะนี้ชั่วโมงการบินยังไม่เต็มที่ ซึ่งเมื่อบินในเส้นต่างประเทศได้ก็จะทำให้ชั่วโมงการบินขึ้นไป 12-13 ชม./วันเหมือนเดิม

นายธรรศพลฐ์ กล่าวเสริมว่า อยากให้รัฐบาลเร่งการฉีดวัคซีน แต่หากมีการระบาดโควิด-19 อีกระลอกก็คงต้องลดเที่ยวบินลงอีก และจำกัดค่าใช้จ่าย โดยในภูเก็ตขณะนี้ผู้ที่อยู่ด่านหน้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และคาดว่าบุคคลากรสายการบินจะได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อาจจะล่าช้าออกไป เพราะยังไม่มีการฉีดวัคซีนกับประชาชนทั้งเกาะมีเพียงคนที่ทำงานด่านหน้าเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ