ส่องมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจต่อ GDP จีนที่ชะลอตัว กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2019 18:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน พร้อมกับสำนักข่าวซินหัว ร่วมกันจัดงานเสวนาในหัวข้อ "ผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทย จากการปรับตัวของ GDP จีน" ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกและกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งรวมถึงสงครามการค้ากับสหรัฐ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หลายฝ่ายคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้น่าจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย จึงนับเป็นโอกาสดีที่งานครั้งนี้ได้นำผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและจีนมาร่วมวิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนที่ปรับตัวลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทยอย่างไร และมากน้อยเพียงใด

*ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้อง GDP จีน 6-6.5% ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก

จากการที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เคยกล่าวว่า เป้าหมาย GDP ปีนี้อยู่ที่ 6-6.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ของจีนในอดีต ทำให้หลายคนอาจรู้สึกวิตกกังวลกับตัวเลขดังกล่าว อย่างไรก็ดี วิทยากรที่ร่วมเสวนาต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า ตัวเลข GDP ระดับ 6-6.5% ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า จีนเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 30-40 ปีที่ผ่านมา สมัยก่อนจีนโตเร็ว แต่พอผ่านมาระยะหนึ่งก็เริ่มมาพัฒนาเรื่องของสุขภาพ สมอง และจิตภาวะ นี่คือคำตอบว่าทำไม GDP ถึงต้องชะลอตัวลง ถ้า GDP จีนอยู่ในระดับเลขสองหลักอยู่คงทะเลาะกับประเทศอื่น ๆ สมัยก่อนโตจากฐานเล็ก อัตราการเติบโตจึงสูง แต่ปัจจุบันฐานใหญ่ขึ้น การเติบโตระดับนี้ก็ถือว่าสูงแล้ว

ในขณะที่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) ก็เห็นพ้องว่า เศรษฐกิจจีนไม่ว่าจะ 6.0 หรือ 6.5 ก็ถือว่าไม่น่ากลัว พร้อมให้เหตุผลว่า การเติบโตของจีนในรอบนี้ไม่ได้เน้นที่ปริมาณแต่เน้นคุณภาพ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีน เริ่มตั้งเป้าในเชิงคุณภาพชีวิต หลักธรรมาภิบาล เรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ นโยบาย Made in China 2025 ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า จีนต้องการที่จะทำให้สินค้าของจีนไม่ใช่แค่ราคาถูก แต่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพด้วย

เช่นเดียวกับ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า ปัจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตแบบปรับฐานและปรับโครงสร้าง ตัวเลข GDP ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า GDP ของจีนยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อาจจะช้าแต่ชัวร์

ด้าน ดร.หลี่ จื้อกัง ประธานกรรมการบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย) มองว่า ปัจจุบันจีนยังคงเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จีนแข็งแกร่งขึ้นมาก และกำลังก้าวขึ้นเป็นแถวหน้าในด้านเทคโนโลยีของโลก และไม่ได้ด้อยกว่าโลกตะวันตกอีกต่อไป

*เศรษฐกิจของจีนกับโอกาสของไทย

สำหรับผลกระทบและโอกาสของไทยนั้น ดร.พจน์มองว่า ไทยย่อมได้รับผลกระทบ แต่เรายังเห็นการลงทุนไทย-จีนไม่เยอะมากนัก แต่ไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาการค้าระหว่างเอกชน-เอกชนให้แข็งแกร่ง นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังสามารถพัฒนาได้อีก แต่ต้องสร้างความสมดุลความเหมาะสม สร้างรายได้ให้สมดุลกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังน่าสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ เพราะเป็นความร่วมมือที่จะช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยได้ ไม่ควรคิดเอาเปรียบกัน ไทยกับจีนต้องอยู่ร่วมกันอีกยาว การสร้างระเบียบ ความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร ปัจจุบันจีนเปิดใจ ไทยเองก็ต้องเปิดใจ รัฐบาลใหม่ต้องสนับสนุนให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ อย่าไปดู GDP จีน

*สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลกระทบทั้งต่อจีน สหรัฐ และไทย

นายปริญญ์ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจากมุมมองของวงการนักลงทุน ซึ่งนายปริญญ์มองว่า ในวงการการลงทุน นักลงทุนไม่ชอบอะไรที่สร้างความไม่แน่นอน ซึ่งปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกมีความไม่บาลานซ์หลาย ๆ เรื่องทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่ดีมากนัก สำหรับกรณีของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนนั้น หากสหรัฐใช้นโยบายอย่างไม่สร้างสรรค์ สหรัฐก็จะเจ็บตัวเอง สหรัฐเองก็ต้องการจีน การขาดดุลการค้าของสหรัฐก็ยังจะดำเนินต่อไป แม้ว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากจีนมากเท่าไหร่ก็ตาม

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ดร.เกียรติอนันต์แสดงความคิดเห็นว่า ธุรกิจไทยสามารถรับมือกับสงครามการค้าได้ เพราะเรามีตลาดส่งออกที่หลากหลาย แต่ก็มีเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น ส่วนการขยายการทำธุรกิจหรือการมองหาโอกาสจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตนั้น เราจะต้องเข้าใจในด้านวัฒนธรรมและวิธีคิดของคนจีน ถ้าไม่เข้าใจแบบนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง การตัดสินใจที่รวดเร็วของนักธุรกิจจีนอาจทำให้คนไทยมองว่าเป็นการคุกคาม แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ สัญชาติญาณในการคิดและการตัดสินใจของเขาจะไม่เหมือนกับเรา

ขณะที่ดร.หลี่แสดงความคิดเห็นว่า หากสหรัฐและจีนตัดสินใจที่จะทำสงครามการค้าระหว่างกัน อาจส่งผลให้ทั้งสองประเทศแพ้ร่วมกัน และยุโรปกับญี่ปุ่นก็จะได้เปรียบ ถ้าสงครามการค้าปะทุขึ้น จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การค้าทั่วโลก ผลกระทบต่อไทยก็มีมาก โดยไทยผลิตชิ้นส่วนที่ส่งไปยังจีน ก่อนจะแปรรูปและส่งไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐ ถ้าสหรัฐยุติการนำเข้าสินค้าจีน ก็จะทำให้จีนไม่สั่งซื้อสินค้ากึ่งสำเร็จรูปของไทย ในขณะเดียวกันก็ทำให้กำลังการใช้จ่ายของจีนลดลง และส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยในที่สุด

*ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ ธุรกิจไทยมีโอกาสในตลาดจีน หากรู้จุดแข็งของตนเอง

ดร.หลี่ยังได้แสดงความคิดเห็นในระหว่างการเสวนาว่า ทั้งจีนและไทยต่างมีโอกาสในการได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากกันและกัน ปัจจุบันรัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนให้บริษัทจีนไปลงทุนในต่างประเทศ และปัจจุบันจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในไทย รองจากญี่ปุ่น ผู้ประกอบการไทยเองก็สามารถเข้าไปลงทุนในจีนได้ เพราะมีบริษัทต่างชาติหลายแห่งประสบความสำเร็จ แต่ผู้ลงทุนจะต้องเข้าไปทำธุรกิจที่คิดว่าตนเองได้เปรียบ โดยต้องดูความได้เปรียบของตนเองและเข้าใจตลาดและผู้บริโภคจีน สิ่งที่ไทยมีข้อได้เปรียบคือ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป อาหารทะเล แต่ถ้าไทยจะไปแข่งบริษัทไฮเทคกับจีน ไทยอาจเสียเปรียบ ไทยอาจเลียนแบบของจีนได้ แต่อาจยากที่จะไปถึงจุดสูงสุด เพราะไทยมีประชากรน้อย ยกตัวอย่างเช่น หัวเว่ย มีวิศวกรนับแสนคน แต่การหาจำนวนวิศวกรขนาดนี้ในไทยอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และเลี่ยงจุดอ่อน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาระดี ๆ จากงานเสวนาหัวข้อ "ผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทย จากการปรับตัวของ GDP จีน" ซึ่งเป็นมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและจีน เรียกได้ว่าเป็นการเสวนาที่มอบสาระความรู้ให้กับผู้ชมได้อย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ