(เพิ่มเติม) เลขาฯ EEC เชื่อปีนี้มีเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 3 แสนลบ.เข้า EEC คาดดัน GDP โตเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2019 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC คาดว่า ในปี 62 นี้จะมีมูลค่าลงทุนในการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยผลักดันอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น

"ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป EEC จะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท/ปี สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตรา/ปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพกับคนใน EEC ที่สำคัญคือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน" นายคณิศ ระบุ

หลังจากการขับเคลื่อนผ่านการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้ชัดจากมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดย GDP มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 59 มาเป็น 4.2% ในปี 61 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน

ในส่วนการขับเคลื่อนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา (MRO), โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้เอกชนร่วมทุนครบ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือน เม.ย.นี้ และจะเริ่มลงทุนในครึ่งหลังปีนี้ โดยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นความร่วมลงทุนระหว่างบมจ.การบินไทย(THAI) และ แอร์บัส ลงทุนฝ่ายละ 50% คาดจะลงนามสัญญาในสัปดาห์หน้า

"เม็ดเงินลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาทจะมาจากการลงทุน 5 โครงสร้างพื้นฐาน ราว 1 แสนล้านบาท การลงทุนภาคเอกชนที่ได้ขอส่งเสริมการลงทุนบีโอไออีกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท และการลงทุนธุรกิจรอบนอก EEC อาทิ โรงแรม โรงเรียน โครงการอสังหาริมทรัพย์ อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท"

นายคณิศ ยังกล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการทำงานปีที่ 3 ของ EEC ใน 5 เรื่อง จะเร่งรัดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี ซึ่งจะสร้างงานใหม่ รายได้ดี ไม่น้อยกว่า 4.5 แสนตำแหน่งให้กับเยาวชนไทย รวมทั้งเพิ่มการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถดูแลประเทศด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษา, ประสานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IOT และ start-up, สานต่อการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว

รวมทั้งการเดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน

การจัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ ด้วยการประสานงานให้ EECi และ EECd เป็นไปตามแผนงาน, วางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบัง และเกาะสำคัญ (เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด) และสร้างระบบการกำกับดูแลการพัฒนาของมหานครการบินภาคตะวันออก

นายคณิศ กล่าวว่า ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) และ คณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade :CCPIT) จะจัดสัมมนาที่กรุงเทพ โดยดึงนักรธุรกิจญี่ปุ่น 100 คน นักธุรกิจญี่ปุ่น 100 คน และนักธุรกิจไทย 100 คน โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมด้วย และจะมีการจับคู่ธุรกิจของเอกชนไทยกับจีนและญี่ปุ่นเพื่อร่วมลงทุนใน EEC ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการส่งเสริมประเทศที่ 3

"รัฐบาลจีน และรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ลงนามข้อตกลงร่วมมือลงทุนในประเทศที่สาม ซึ่งได้เลือกเข้ามาลงทุนในไทยใน EEC และร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่จะช่วยประคองให้โครงการเกิดขึ้น ซึ่ง ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) จะเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน"

นายคณิศ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่มั่นใจโครงการใน EEC ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะมั่นใจว่าโครงการใน EEC เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลจะดำเนินการสานต่ออย่างแน่นอน เพราะมีกฎหมายรองรับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน EEC โดยตำแหน่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ