(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก มี.ค.หดตัว -4.88% ตามแนวโน้มการค้าโลก คาดทั้งปีโตไม่ถึงเป้า 8% เตรียมทบทวนเร็วๆนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า การส่งออก ของไทยในเดือน มี.ค.62 มีมูลค่า 21,440.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -4.88% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -3.3 ถึง -4.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,435.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -7.63% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.64% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -1.20% ดุลการค้าเกินดุล 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2562 กลับมาลดลง 4.9% ที่มูลค่า 21,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญ ซึ่งมาจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าเริ่มมีสัญญาณความชัดเจนมากขึ้น และรวมทั้งจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ และการเมืองในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงของภาคสินเชื่อและธนาคารของจีน นอกจากนี้ ราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ

"การส่งออกที่กลับมาติดลบ 4% ในเดือนนี้ เป็นผลจากแนวโน้มการค้าโลกที่หลายประเทศเผชิญปัญหาเดียวกัน การค้าติดลบไป 60 ประเทศจาก 94 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นปี 2562 สินค้าหลายรายการสำคัญยังขยายตัวได้ดี อาทิ สินค้ากลุ่มอาหาร (ทูน่ากระป๋อง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป) รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือนมี.ค.62 เช่น บรรยากาศสงครามการค้าเริ่มลดความตึงเครียดลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง ภาพลักษณ์ของสินค้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ในหลายมณฑล/รัฐ ของจีนและอินเดีย แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนมี.ค.62 กลับมาขยายตัว 3.2% โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 30% (ขยายตัวระดับสูงในตลาดจีน และตลาดอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย) ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 14.2% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้) ยางพารา กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน ที่ 6.5% (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินเดีย) ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 6.4% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในภาพรวมหดตัวที่ 6% แต่สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.6% (ขยายตัวระดับสูงในตลาดเวียดนาม และตลาดอื่นๆ อาทิ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.7% (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 14.8% (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.6% (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์)

สำหรับการส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่ยังหดตัว ส่วนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษี และผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลงและบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลัก ขยายตัว 1% เป็นผลจากการการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัว 7.4% ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง 1.4% และสหภาพยุโรป ลดลง 2.6% ส่วนการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง ลดลง 8.9% เป็นผลมาจากการส่งออกไปอาเซียน-5 ลดลง 15.6% และจีน ลดลง 9% อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาด CLMV และเอเซียใต้ยังคงขยายตัว สำหรับตลาดศักยภาพระดับรอง ลดลง 5.5% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CIS และลาตินอเมริกาลดลง ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2562 ภาพรวมการส่งออกไทยชะลอตัวตามแนวโน้มการค้าโลก และอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญจากปัจจัยเฉพาะอย่างที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นและกดดันเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ความเสี่ยงในตลาดสินเชื่อของจีนจากการผิดนัดชำระหนี้ของเอกชน และความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ ตลาดเริ่มคลายความกังวลภายหลังการเจรจาในประเด็นสำคัญมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 และเริ่มเข้าสู่การหารือกลไกการบังคับใช้ข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นปัจจัยสนับสนุนการค้าโลกในครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายภาครัฐในหลายประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวมได้ในระยะเดียวกัน อาทิ การส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังของจีน เพื่อชดเชยผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีทางการค้า

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า สำหรับภาพรวมแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2562 นี้ อาจไม่สามารถขยายตัวตามได้เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ แต่สำหรับเป้าหมายที่พอจะมีโอกาสเป็นไปได้คือคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% อย่างแน่นอนในปีนี้ อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรงจะได้มีการประชุมในเร็วๆ นี้ เพื่อทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้อีกครั้ง

"เป้าหมาย 8% คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละเดือนที่เหลือต้องได้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์...ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคงจะประชุมทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ในเร็วๆ นี้ หากได้ 22,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ก็น่าจะขยายตัวได้ราว 3-6% แต่เรายังเชื่อว่าทั้งปีนี้ คงไม่ต่ำไปกว่า 3% อย่างแน่นอน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 เชื่อว่าจะขยับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ใช่ช่วงขาลง ประกอบกับสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มราคาดีขึ้น สามารถหาตลาดใหม่ๆ มารองรับการส่งออกได้เพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อเนื่องให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นด้วย จากปัจจัยราคาน้ำมันที่เป็นช่วงขาขึ้นหลังจากซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ปัญหาสงครามการค้าที่คาดว่าจะคลี่คลายได้ในช่วงเดือนมิ.ย.

"จากข่าวที่ว่าสหรัฐและจีน มีแนวโน้มว่าจะมีข้อตกลงกันได้ในช่วงเดือนมิ.ย. ก็จะทำให้ปัญหาสงครามการค้ายุติลงได้ชั่วคราว และจะทำให้การค้า และ mood ดีขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังถ้าปัจจัยต่างๆ ดีขึ้น ก็จะส่งผลให้การส่งออกของไทยดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดี อาจยังต้องติดตามปัจจัยค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า มีผลต่อสินค้าเกษตรบางรายการที่ทำให้เมื่อตั้งราคาแล้วยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น ข้าว" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าแผนกิจกรรมส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปี จะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2562 นี้ โดยกระทรวงฯ ยังเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อ e-Marketplace ชั้นนำ เดินหน้าผลักดันกิจกรรมเจาะตลาดศักยภาพเป็นรายมณฑล/รัฐ ในตลาดจีนและอินเดีย และการจัดคณะผู้แทนเพื่อขยายการส่งออกในตลาดใหม่ อาทิ ตลาดแอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าขยายโอกาสการค้าการลงทุนผ่านการสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับคู่ค้าศักยภาพ (Strategic Partnership) และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (International Business Network) เพื่อกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดใดเพียงแห่งเดียว และเสริมสร้างพื้นฐานการส่งออกไทยให้มีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงภายนอกและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ผู้อำนวยการ สนค.ยังกล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ว่าแทบจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่จะทำให้ผู้ผลิตใช้เป็นเหตุผลในการอ้างปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด ในทางกลับกันการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ อาจมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนบ้างที่ทำให้กำลังซื้อลดลง

"ขึ้นค่ารถเมล์ไม่กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า แต่อาจมีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนที่อาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงไปบ้าง แต่งคงไม่ใช่การไปเพิ่มต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ