ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทย ก.ค.62 ปรับลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 66 เดือน กังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2019 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดมาอยู่ที่ระดับ 41.5 จากเดิมที่ระดับ 43.1 ในเดือนมิ.ย.62 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 66 เดือน โดยพบว่าครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้สิน

ทั้งนี้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.62 จากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ประจำเดือนก.ค.62 พบว่า 68.4% ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน นับเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในช่วงเดือนมิ.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ 67.2% โดยครัวเรือนไทย ให้เหตุผลถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ว่าส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น (57.3%) โดยเฉพาะราคาอาหารและราคาพลังงานภายในประเทศ นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในรายการพิเศษ (32.3%) เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ ในช่วงวันหยุดยาว (วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา)

ขณะที่ครัวเรือนค้าขายกังวลรายได้หด ครัวเรือนลูกจ้างกังวลการมีงานทำ โดยดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.9 จากเดิมที่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย.62 โดย 20.9% ของครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในเดือนก.ค.62 มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน นับเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมิ.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ 15.9% โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการขายสินค้าได้ลดลง หรือผลประกอบการแย่ลง และมีครัวเรือนบางส่วนถูกปรับลดค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/หน่วยงานที่ครัวเรือนที่ทำการสำรวจทำงานอยู่ในสถานะเจ้าของหรือลูกจ้าง พบว่า สัญญาณการเลิกจ้าง การลดเวลาในการทำ OT ของพนักงานเพื่อประหยัดงบประมาณบริษัท และการชะลอรับพนักงานใหม่ในเดือนก.ค.62 มีอัตราที่สูงขึ้นจากการสำรวจในช่วงเดือนเม.ย.62 สอดคล้องไปกับตัวเลขการว่างงานในเดือนก.ค.62 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ทยอยส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาดแรงงานภายในประเทศ

ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่า แม้จำนวนครัวเรือนที่มีค่างวด (หนี้) เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.62 จะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่จะเห็นว่าเหตุผลที่ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ลดลง ทำให้ครัวเรือนต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีการผัดผ่อนหนี้ที่ต้องชำระมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.9 จากเดิมที่ระดับ 44.9 ในการสำรวจช่วงเดือนมิ.ย.62 โดยเป็นการปรับลดในเกือบทุกองค์ประกอบทางด้านการครองชีพของครัวเรือน ยกเว้นในประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่ครัวเรือนไทยมีความคาดหวังว่าจะปรับตัวลดลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.-ต.ค.62) หลังภาครัฐขยายมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LGV) ภาคครัวเรือน (กลุ่มหาบเร่ แผงลอย) และราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.62 นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีมติคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) สำหรับงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.62

"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลอย่างยิ่งของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.-ต.ค.62) ซึ่งในปัจจุบัน ครัวเรือนมีความกังวลในทุกมิติเศรษฐกิจ และการครองชีพของตนเอง ทั้งในฝั่งรายได้ และรายจ่ายของครัวเรือน" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะเผชิญโจทย์ที่ท้าทายและยากลำบากมากขึ้น หลังผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยตามภาวะเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างภาคการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการหลายรายการเตรียมขยับขึ้น เช่น ค่าโดยสารแท็กซี่ และราคาเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกสินค้าไทย ยังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.62 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% ลงสู่ 1.50% ก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้ในอนาคตของภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่คาดว่าจะเปิดเผยออกมาเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ