(เพิ่มเติม) กสทช.พร้อมเริ่มเคาะราคาประมูลคลื่น 1800 MHz เวลา 10.00 น.วันนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday August 19, 2018 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz วันนี้ มีผู้ประกอบการ 2 รายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) โดยการประมูลเริ่มเคาะราคารอบแรกเวลา 10.00 น.

"การประมูลในครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศไทยที่มีการจัดการประมูลก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย" ประธาน กสทช.กล่าว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz รวม 45 MHz แบ่งออกเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 MHz ผุ้เข้าร่วมประมุลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต หรือ 20 MHz เท่านั้น โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเคาะครั้งแรกซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 25 ล้านบาท หากผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการเคาะราคาจะถูกยึดหลักประกันตามหลักเกณฑ์การประมูล

ทั้งนี้ ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประกาศผลการประมุลภายใน 7 วัน โดย กสทช.จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เช้าร่วมประมูลภายหลังจากผู้เช้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนถูกต้องภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล

สำหรับการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนหมดอายุสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61 เนื่องจากสำนักงาน กสทช.เห็นว่าจะเป็นนำคลื่นความถี่ออกมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง และยังเพิ่มมูลค่าเป็นหลักแสนล้านบาท เพราะพบว่าทุกวันนี้มีผู้ใช้ 3G./4G จำนวน 120 ล้านราย และการใช้งานดาต้าเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในไตรมาส 1/61 มียอดการใช้ดาต้าเติบโต 17%เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/60 และในไตรมาสที่ 2/61 เติบโตถึง 53%

นายฐากร กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ในไทยที่ถืออยู่ยังน้อย โดยรวมมีเพียง 420 MHz ต่ำกว่าข้อเสนอของ ITU ที่มีจำนวน 720 MHz ของแต่ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเดินหน้าไปสู่ระบบ 5G เพื่อให้มีคลื่นความถี่รองรับการใช้งานให้เพียงพอ ซึ่งการขยายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบ 5G ก็ต้องติดตั้งให้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม กสทช.พบว่าการแชร์ริ่งโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมยังต่ำเพียง 20-30% ซึ่งเป็นผลเสียต่อการใช้งานโครงข่ายและเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ