บลจ.ยูโอบี เริ่มกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 63 หวั่นสงครามการค้าบานปลาย แนะเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 17, 2019 09:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการประเมินแนวโน้วเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในขณะนี้เริ่มมีความเสี่ยงและความกังวลมากขึ้น ภายหลังจากได้นำข้อมูลจากกลุ่มบริษัทแม่ UOB Asset Management ประเทศสิงคโปร์มาประกอบการพิจารณาพบว่าดัชนีชี้วัดความน่าจะเป็นของการเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) มีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดภายในปี 63 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเครื่องวัดความเชื่อมั่นผู้ลงทุนทั่วโลกเริ่มหดตัว ประเด็นหลักมาจากเรื่องสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดฯจะคาดหวังกับท่าทีของผู้นำทั้ง 2 ประเทศในการประชุม G20 ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ แต่ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ทั้ง 2 ประเทศยังไม่ยุติข้อพิพาททางการค้าและมีท่าทีจะยืดเยื้อต่อไป

โดยสมมติฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิด Recession รอบนี้คือผลกระทบของสงครามการค้ากระจายเป็นวงกว้างในประเทศอื่น และสหรัฐฯยกระดับเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯในอัตรา 25% พร้อมกับเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปในอัตรา 25% สวนทางกับจีนและยุโรปกลับมามีมาตรการตอบโต้ กรณีเลวร้ายประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯปี 62 มีโอกาสกลับไปติดลบ 0.6% และปี 63 ติดลบ 2% ,จีน ปี 62 และปี 63 ติดลบ 1%, กลุ่มยุโรป ปี 62 ติดลบ 0.5% และปี 63 ติดลบ 1.6%,และญี่ปุ่น ปี 62 ติดลบ 0.9% และปี 63 ติดลบ 1.1%

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลก ยังพอมีเครื่องมือช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวลดลงรุนแรงเหมือนกับหลายวิกฤตทางเศรษฐกิจในอดีต ซึ่งปัจจุบันธนาคารกลางส่วนใหญ่มีท่าทีผ่อนคลายนโยบายการเงิน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งภายในปีนี้ แม้นักลงทุนทั่วโลกคาดการณ์กันว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งก็ตาม

สำหรับผลกระทบเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตในระดับ 3% ปลาย ๆ แต่ต้องติดตามว่าผลกระทบสงครามการค้ายืดเยื้อจนกระทบส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีอีกหรือไม่ เพราะเป็นตัวแปรหลักให้หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดจีดีพีได้อีกครั้งในระยะถัดไป ขณะเดียวกันต้องติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ว่าจะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศชดเชยผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้มากน้อยอย่างไร

ทั้งนี้ ประเมินว่าถ้าหากเฟดลดดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งภายในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายเช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยต้องขึ้นอยู่กับกระแสเงินทุนไหลเข้าและออก และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ารุนแรงหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดมีอัพไซด์จำกัด โดยประเมินกรอบ 1,580-1,750 จุด ซึ่งปัจจุบันในแง่ valuation ไม่ได้ถูกแล้ว มีโอกาสปรับฐานรอบใหม่ได้เช่นกัน ขณะที่มุมมองนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับปานกลาง เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนและเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตหวือหวาจนน่าดึงดูด แม้ว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่ก็ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าและออกสลับกันไปเท่านั้น

บลจ.ยูโอบี จึงมีมุมมองเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหุ้นแนะเลือกลงทุนเป็นรายบริษัทที่มีคุณภาพสูง ในระยะสั้นเน้นในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในระยะปานกลางเลือกบริษัทอิงในกลุ่มบริโภคภายในประเทศ

"เรายังเฝ้าระวังความเสี่ยงสงครามการค้าโลกที่อาจจะรุนแรงขึ้น ตลาดหุ้นผันผวนไปตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยหากประเทศมหาอำนาจตอบโต้เรื่องการค้าเข้าสู่กรณีเลวร้าย กระทบเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเกิดถดถอยในปี 2020 กรอบล่างดัชนีหุ้นไทยที่วางไว้ 1,580 จุดก็คงเอาไม่อยู่ คงจะลงไปเรื่อยๆจนกว่าจะหาจุดสมดุล แต่เรายังคาดหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าประเทศมหาอำนาจต่างยกระดับความรุนแรง เศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐฯก็ต้องได้รับผลกระทบไม่น้อย เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีน ดังนั้น ต้องติดตามว่าจะเห็นการผ่อนคลายตึงเครียดและยุติสงครามการค้าได้เมื่อใด"นายวนา กล่าว

ทั้งนี้ บลจ.ยูโอบี เตรียมเสนอขายกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไดนามิค บอนด์ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ฟันด์ 3Y2 (UDBC3Y2) โดยเปิดจองซื้อครั้งแรกวันที่ 17-25 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้แบ่งโครงสร้างการลงทุนของกองทุนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นส่วนของเงินต้น กองทุนจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก อายุประมาณ 3 ปี มีกลยุทธ์การลงทุนครั้งเดียวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และส่วนที่ 2 กองทุนจะลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่มีการจ่ายปันผลตอบแทนอ้างอิงกับมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน Jupiter Dynamic Bond L EUR Acc ซึ่งกองทุนถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง ในขณะที่ยังคงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในตราสารหนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีกรมสรรพากร เตรียมจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมอย่างเป็นทางการวันที่ 20 สิงหาคม 2562

นายวนา กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงเป้ามีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ในปีนี้เติบโต 15% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรกมีอัตราการเติบโต 7% อยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท มากกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโตเพียง 5% โดยตั้งแต่ต้นปีบริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมหลากหลายทั้งหมด 5 กองทุน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุน โดยกองทุนรวมเดิมที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 62 ประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ (UGQG) มี AUM เพิ่มขึ้น 213% (465 ล้านบาท) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB) มี AUM เพิ่มขึ้น 67% (1,566 ล้านบาท) และกองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN) มี AUM เพิ่มขึ้น 48% (3,048 ล้านบาท)

ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ต้นปีบริษัทเข้ารับบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนข้าราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้วประเภทกองทุนผสม และได้บริหารเงินลงทุนเพิ่มในส่วนตราสารทุนสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีอัตราการเติบโต 21%

ขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ได้รับบริหารกองทุนส่วนบุคคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเภทกองทุนผสม ตราสารหนี้และตราสารทุน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาบริการออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในโลกดิจิทัล โดยบริการรับชำระเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนด้วยระบบ QR code พัฒนาแล้วเสร็จในไตรมาส 2 นี้ เพื่อรองรับการชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนได้จากธนาคารชั้นนำหลายแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ