SACICT หนุนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่เครื่องประดับรุ่นใหม่เพื่อสตรี “ออเจ้า” สานฝันอนุรักษ์งานศิลป์ไทยสู่พิพิธภัณฑ์ “เครื่องลงยาสีแม่บุญมี”

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2018 12:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค "เครื่องลงยาสี" นับเป็นศิลปะที่นิยมใช้บนเครื่องใช้ เครื่องประดับ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ไทย ภูมิปัญญา อันเป็นเสน่ห์ของการลงยาสี ที่มีความละเอียดอ่อน ต้องใช้ความอดทน ความเพียรในขั้นตอนการทำ ที่ไม่อาจทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ กว่าจะได้เป็นชิ้นงานที่ขับลวดลายของโลหะได้สีสันที่สดสวยด้วยยาสี หลากสี ที่ในปัจจุบันคงเหลือช่างศิลป์มีประสบการณ์การลงยาสีแบบโบราณด้วยการใช้ความร้อน หรือที่เรียกว่าการลงยาสีร้อน เพียงไม่กี่คนในประเทศไทย นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวด้วยว่า เครื่องลงยาสีโบราณเป็นงานเชิงช่างที่แสดงถึงศิลปะบนเครื่องใช้เครื่องประดับ มีความวิจิตรของลวดลายที่แต่งแต้มด้วยยาสีหลากสีสัน เป็นงานศิลปะหัตถกรรมที่มีมานับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสืบทอดกันมาหลายร้อยปี SACICT จึงส่งเสริม อนุรักษ์ และให้ความสำคัญกับงานศิลปะเครื่องลงยางสีโบราณนี้อย่างมาก เพื่อมิให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศสูญหาย ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ทางการตลาดหัตถศิลป์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ตลาดหัตถศิลป์เครื่องลงยาสีโบราณของไทยเป็นที่รู้จัก ชื่นชอบ และนิยมใช้ทั้งคนไทยและนานาประเทศ "ปี 2561 นี้ SACICT จึงยกย่องให้ "นางบุญมี จันอุไรรัตน์" วัย 81 ปี เป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประจำปี 2561 ประเภทงานเครื่องลงยาสีโบราณ แห่งเดียวของจังหวัดนนทบุรี ครูศิลป์แม่บุญมี มีความสำคัญยิ่งนัก เพราะท่านเป็นผู้อนุรักษ์สืบทอดงานเครื่องลงยาสีตามภูมิปัญญาดั่งเดิมแบบโบราณ มากกว่า 50 ปี ด้วยการคงเอกลักษณ์ความละเอียดในการบดยาสีจนได้เนื้อสีที่ใสสะอาด เกลี่ยเนื้อสีบนร่องลายบนเนื้อโลหะทองแดงหรือทองวิทยาศาสตร์ ด้วยความหนาที่พอดี หลอมให้ละลายบดติดลงบนผิวของโลหะนั้นด้วยการใช้ความร้อน ขัดจนขึ้นลายเงางาม" คุณแม่บุญมี กล่าวว่า ด้วยสุขภาพและวัยขนาดนี้แล้ว การลงมือทำเอง จึงทำได้ไม่เต็มทีนัก แต่คุณแม่ไม่ทิ้งความสำคัญกับงานเครื่องลงยาสีที่ได้รับสืบทอดมาจากพี่ชายที่เสียชีวิตไปนานแล้ว ในช่วง 10 ปีมานี้ คุณแม่จึงได้ถ่ายทอดให้กับลูกชายสานต่อเพื่อคงรักษางานศิลป์โบราณเอาไว้ และมีลูกสาวของเพื่อนสนิทมาช่วยทำการสอนให้กับผู้ที่มีความสนใจงานเครื่องลงยาสีและอนุรักษ์ศิลป์ไทยที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ทำงานประจำและผู้สูงวัยมาเรียนรู้เพื่อไปทำอาชีพเสริมหรือยามว่าง และกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษางานเพาะช่าง ที่ร่ำเรียนอยู่ชื่นชอบงานศิลป์และมีความคิดสร้างสรรค์ดีไซน์งานออกแบบเก่งๆ แต่ต้องการเรียนรู้เรื่องเทคนิคขั้นสูงที่ซับซ้อนมากขึ้น นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ ทายาทลูกชายแม่บุญมี ผู้สืบทอดอนุรักษ์เครื่องลงยาสีและวิทยากรครูศิลป์ท่านหนึ่งให้กับช่างสิบหมู่ วัย 53 ปี มีความรู้ในระดับปริญญาโท บอกว่า มีความตั้งใจว่าในอนาคตจะสร้าง "พิพิธภัณฑ์เครื่องลงยาสีแม่บุญมี" ขึ้นมาให้สำเร็จจงได้เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาและสืบทอดองค์ความรู้ศิลปะการทำเครื่องลงยาสีโบราณแห่งแรกของประเทศเอาไว้ให้ลูกหลานศึกษาต่อไป แต่ยอมรับว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้จะต้องใช้ปัจจัยจำนวนมาก จึงยังวางแผนที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด และเล็งสถานที่สร้างว่าน่าจะเป็นบ้านโบราณสักแห่งหนึ่งในแถบย่านใกล้ๆ กับศาลากลางจังหวัดนนทบุรี "ด้านการตลาดยอมรับว่าได้ผลเยี่ยมมากหลังจากได้ไปร่วมออกบูทกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ มีผู้ซื้อชุดเครื่องประดับลงยาสีครบทั้งชุด 6 ชิ้นไปใช้ที่ประเทศเยอรมันเป็นครั้งแรก ชุดนี้ราคาประมาณ 1.6 หมื่นบาท ต่างจากเมื่อก่อนผู้ชื่นชอบมักจะซื้อเป็นชิ้นๆ ไม่มีใครใคร่สั่งซื้อเป็นชุดเฉกเช่นนี้ อีกทั้งยังมียอดสั่งซื้อพิเศษเป็นกระเป๋าที่ยังค้างส่งอีกเป็นจำนวนนับ 10 ชิ้นงาน เพื่อส่งให้ผู้รักและชอบงานลงยาสียาวไปถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจาก กระเป๋าใบหนึ่งต้องใช้ฝีมือและเวลาในการทำนาน ใบใหญ่ขนาด 10 นิ้ว จะนานถึง 2 เดือนต่อใบ ราคาต่อใบประมาณ 2.4 หมื่นบาท ถ้าใบเล็กขนาด 6 นิ้ว จะนาน 1 เดือนต่อใบ ราคาประมาณ 1.6 หมื่นบาท" ทายาทแม่บุญมีกล่าว ทายาทคุณแม่บุญมี บอกอีกว่า เดิมนั้นเครื่องประดับสีลงยานี้ จะมีไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องประดับภายในบ้าน ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือใช้สอยและเครื่องประดับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น กรอบรูป กระเป๋า ปากกา ตลับใส่เครื่องประดับ เป็นต้น เมื่อยิ่งกระแสความดังบุพเพสันนิวาสมาแรง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาสร้างสรรค์รูปแบบสินค้าใหม่ๆ สอดคล้องกระแสและให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น สร้อยสายสะพาย เข็มขัด กำไล แบบเครื่องลงยาสีโบราณ เพื่อสร้างความน่าสนใจในงานศิลป์ที่แฝงด้วยเสน่ห์ฝีมืองดงามให้ความลึกซึ้งในคุณค่ายิ่งกว่ากระแสนิยมไทยที่คนทั่วไปจะรับรู้แค่การแต่งชุดไทย ใช้เครื่องประดับแบบอื่น เช่น กำไรทองเหลือง เหมือนในละครทีวี ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเครื่องลงยาสีและส่งเสริมให้ตลาดงานศิลป์ขยายกว้างออกไปอีก พร้อมกับแนะเคล็ดวิธีเก็บรักษาเครื่องลงยาสีให้ยาวนานเป็นมรดกสืบทอดถึงลูกหลานต่อไปว่า ไม่ยุ่งยากในเก็บรักษา เพียงแค่นำผ้าชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดคราบเหงื่อไคลที่ติดกับเครื่องลงยาสีแต่ละชิ้นให้สะอาดหลังใช้เครื่องประดับลงยานั้นๆ ทุกครั้ง แล้วนำมาเก็บในถุงป้องกันความชื่นหรือถุงพลาสติกปิดให้มิดชิด เพื่อไม่ให้อากาศเข้าได้ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่ถ้าเก็บไว้นานแล้วจะนำมาใช้และมีลักษณะสีคล้ำขึ้น ก็นำน้ำสบู่และน้ำมะขามเปียกมาขัดก็สามารถล้างคราบดำให้สะอาดเงางามได้เหมือนเดิมแล้ว หากทำเช่นนี้จะเก็บรักษาเครื่องลงยาสีชั้นนั้นให้เป็นของรักของหวงตราบนานเท่านานได้ ผู้อำนวยการ SACICT กล่าวทิ้งทายไว้ด้วยว่า วันนี้แม้วัยที่ล่วงเลยกว่า 81 ปี แต่คุณแม่บุญมียังมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรักษาภูมิปัญญาการทำงานเครื่องลงยาสีตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแบบโบราณเอาไว้ ด้วยการอุทิศตนในการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับผู้สนใจ เยาวชนคนรุ่นใหม่ และสถาบันการศึกษาให้ได้เรียนรู้ถึงกรรมวิธี และเทคนิคการลงยาสีร้อน เพื่อสืบสานศิลปหัตถกรรมเครื่องลงยามรดกอันมีค่าของแผ่นดินให้คงอยู่ ขณะเดียวกันก็พัฒนารูปแบบผลงานเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันใหม่ได้มากขึ้น เฉกเช่นนี้ เราจะสามารถช่วยกันรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศนี้ไว้ได้และ SACICT จะมุ่งมั่นพัฒนางานอนุรักษ์นี้ไว้อย่างยั่งยืนถาวรสืบต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ