'ม.ศรีปทุม’ ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2018 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ศรีปทุม (SPU) กล่าวว่า จากแนวนโยบายและ กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตและหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ภายใน 15-20 ปีข้างหน้า รวมถึงพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ระดับโลก เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ให้มีความแข็งแกร่งสู่การทำงานในอุตสาหกรรมอนาคต จึงเห็นด้วยกับนโยบายผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพราะสอดคล้องกับแนวทางที่ม.ศรีปทุม ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ด้วยการผลิตบัณฑิตคุณภาพให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเป็นมืออาชีพ "มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้จัดให้มีโครงการสหกิจศึกษาทุกหลักสูตรในระดับปริญญาตรี โดยนักศึกษาต้องออกไปฝึกปฎิบัติงานเพื่อหาประสบการณ์อย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา แล้วก่อนหน้าจะไป จะต้องเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการ โดยเชิญสถานประกอบการมืออาชีพเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญ คือ การเรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง ซึ่งตรงมาก ๆ" ผศ.ดร.วิรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า จะขอยกตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนในบางหลักสูตร เช่น หลักสูตรการเงิน ม.ศรีปทุมได้ร่วมมือกับ บริษัท หลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาจัดตั้งเป็นศูนย์ไอร่าเซ็นเตอร์ (SPU Investment Center by AiRa (SICA) ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง ด้านการเงินการลงทุน ส่วนหลักสูตรในระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก นั้น ได้ระบุว่าในหนึ่งภาคการศึกษา ต้องมีการเรียน 15 ครั้ง มหาวิทยาลัยเองได้กำหนดว่า จะต้องพบกับภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 2 ครั้ง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกหลักสูตรมีรูปแบบการเรียนรู้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าของโครงสร้างโดยตรง หลายคนอาจตั้งคำถามถึงการฝึกประสบการณ์ 1 ภาคการศึกษา เพียงพอหรือไม่ รองอธิการบดีฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม นอกจากต้องฝึกประสบการณ์ในปีสุดท้ายแล้ว ระหว่างทางยังมีการออกไปฝึกอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้น แต่ละหลักสูตรย่อมแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับให้ตรงกับข้อกำหนดของหลักสูตรนั้น ๆ บางหลักสูตรทำได้มาก บางหลักสูตรทำได้น้อย "เราไม่คิดว่าทุกหลักสูตรต้องทำแบบเดียวกัน แต่ละหลักสูตรมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน บางสถานประกอบการ มีความสามารถในการดูแลเด็กได้ดี ฉะนั้นอุตสาหกรรมนี้เหมาะที่จะทำด้วย แต่บางอุตสาหกรรมส่งไป การดูแลอาจจะไม่ใช่แบบที่ต้องการ ดังนั้นการส่งนักศึกษาออกไปอยู่เป็นเวลานาน อาจไม่ใช่คำตอบ และจุดแข็ง ของการผลิตบัณฑิต ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ ม.ศรีปทุม ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับว่า จะใช้แบบใด ที่สำคัญมีอาจารย์จากสถานประกอบการเข้ามาอยู่กับเรา อาจเรียกว่า เป็นอาจารย์พิเศษก็ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกหลักสูตรของ ม.ศรีปทุมเป็นไปในทิศทางการนำภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีความโดดเด่นในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการมาก เราได้ทำความร่วมมือกับสมาพันธ์และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อหวังจะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีคณบดีอยู่สองท่าน นอกจากคณบดีปกติแล้ว ยังได้รับเกียรติจากนายนพพร เทพสิทธา จากภาคอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีกิตติคุณ ด้วย เขาย้ำว่า โครงการนี้ต้องวัดผลสัมฤทธิ์จากตัวเด็กว่ามีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้ตรงตามที่วางแผนหรือไม่ และต้องคุยกับภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมมือด้วยว่า ตอบโจทย์หรือไม่ ในสิ่งที่เราออกแบบและร่วมกันทำมา สุดท้ายผศ.ดร.วิรัช ตั้งใจว่าจะมุ่งมั่นในการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้ดีที่สุด ในแบบของเรา และเชื่อว่าจะตอบโจทย์สังคมได้ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและประเทศชาติได้เป็นอย่างดี จึงน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่เรามุ่งทำมากกว่า ส่วนการแข่งขันกันระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันนั้น มองว่าควรช่วยกันทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าการทำให้สถาบันอื่นแย่ลง ซึ่งการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มองว่านี่คือจุดแข็งของม.ศรีปทุม ก่อนที่จะมีโครงการนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ส่วนอนาคตการศึกษาไทยควรเดินไปในทิศทางใดนั้น ผศ.ดร.วิรัช รองอธิการบดีฯ ยืนยันว่า ต้องเริ่มที่ความแตกต่าง การวางนโยบาย การกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปในทิศทางของความแตกต่างได้ เพราะว่าที่ผ่านมา เราอาจติดอยู่กับ 'กับดัก' อันหนึ่งที่ว่า ต้องกำหนดมาเหมือนกันหมด นั่นจึงทำให้ทั้งประเทศเป็นแบบเดียวกันหมด ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีของการศึกษา ถ้าจะให้ดีควรจะมีพื้นที่ให้มีความแตกต่าง ยิ่งแตกต่างมากเท่าไหร่ จะยิ่งเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศของเรา หากสอนไปในมิติเดียวกันหมด เชื่อว่าไม่ช่วยให้ประเทศแข็งแรงขึ้น "เราอย่าไปให้ความสำคัญกับการจัดอันดับในเชิงโลกที่พยายามบังคับให้เราเป็น ซึ่งที่พูดไม่ใช่ว่าไม่สนใจ แต่ไม่ควรให้ความสำคัญจนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ การจัดอันดับจะไม่ช่วยประเทศโดยตรง ถ้าจะช่วยโดยตรงก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกไปแล้วตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คิดว่าบ้านเราต้องการอันนี้ก่อน และ ม.ศรีปทุมเชื่อแบบนั้น" ผศ.ดร.วิรัช กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ