สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เผย คนไทยได้เฮ!! พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ......ใกล้มีผลบังคับใช้

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2018 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--โฟร์ พี แอดส์ (96) สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ (สวช.) เผย คนไทยได้เฮ!! พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ..... ใกล้มีผลบังคับใช้ มั่นใจประเทศมีความมั่นคงด้านวัคซีน สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีวัคซีนใช้ทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน ไม่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนและมีกฎหมายที่ช่วยให้การบูรณาการงานด้านวัคซีนของประเทศเกิดเอกภาพ มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ (สวช.)กล่าวว่า "พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ" เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างหลักประกันว่าประเทศไทยจะสามารถพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน คนไทยจะได้รับวัคซีนเพื่อการป้องกันโรคอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและมั่นใจได้ว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงทั้งในภาวะปกติและภาวะที่เกิดการระบาดของโรค สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนแห่งชาติในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนและทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชนและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยร่าง พรบ. ฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ในวาระ 3 แล้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป วัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีไว้เพื่อกำหนดให้มีกลไกที่เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา การกระจายวัคซีน และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้กำหนดนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มีสถาบันวัคซีนแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้การบริหารจัดการและการพัฒนาด้านวัคซีนมีความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ตลอดจนมีการกำหนดโทษอาญาเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของพ.ร.บ. ฉบับนี้มีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน คือ 1.ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติสามารถประกาศกำหนดการผลิตวัคซีนตามชนิดและปริมาณที่กำหนดเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรคป้องกันการขาดแคลนวัคซีน 2.มีการนำวัคซีนที่ใช้สำหรับสัตว์และยาชีววัตถุที่เกี่ยวข้องมาอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยโดยแต่งตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมปศุสัตว์ร่วมอยู่ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนเห่งชาติ ตามลำดับ 3. มีการกำหนดบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับกรณีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตาม 4. เป็นพ.ร.บ.ที่มีการบูรณาการงบประมาณด้านวัคซีนโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณากรอบงบประมาณด้านวัคซีน และ 5.มีการส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านชีววัตถุเพื่อป้องกันควบคุมและรักษาโรค นอกจากนี้ใน พ.ร.บ. ยังระบุถึงประเด็นด้านการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อให้การวิจัย พัฒนา หรือการผลิตวัคซีน เป็นไปตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ผู้วิจัย ผู้พัฒนา ผู้ผลิต ผู้ประกันและควบคุมคุณภาพ ผู้บริหารจัดการ ผู้จัดหา ผู้กระจาย หรือผู้ให้บริการวัคซีนหรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอาจได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ทุนเพื่อการวิจัย พัฒนา ผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการ การจัดหา การกระจาย หรือการให้บริการวัคซีน หรือสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด "หากพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ..... มีผลบังคับใช้จะทำให้การบูรณาการงานด้านวัคซีนของประเทศเกิดเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีการดำเนินงานด้านการพัฒนาวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เป็นการสร้างหลักประกันนโยบายแห่งรัฐเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจและยุทธศาสตร์วัคซีน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันประเทศสู่ความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองและการเป็นผู้นำด้านวัคซีนในระยะยาว ทำให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ และทำรายได้เข้าประเทศโดยการส่งออกวัคซีน ทำให้ประเทศมีศักยภาพและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนคน วัคซีนสัตว์ ชีววัตถุ และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการแพทย์ และด้านการสัตวแพทย์" ดร.นพ.จรุงกล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ