ดีป้าจัดโรดโชว์พบผู้นำเมืองทั่วประเทศ เวิร์คช้อปข้อมูลเข้มข้น ผลักดันพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ข่าวเทคโนโลยี Monday April 22, 2019 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--วีม คอมมูนิเคชั่น ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ ดีป้า กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน ได้จัดกิจกรรมเปิดตัว "Smart City Thailand Takeoff" เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครเมืองอัจฉริยะ พร้อมเผยแพร่แนวทางการขับเคลื่อนให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ดีป้า ในฐานะเลขานุการร่วม ในคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้รับมอบหมายให้ประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัครเมืองอัจฉริยะทุกภูมิภาคทั่วประเทศและส่งเสริมให้พื้นที่ได้รับการประกาศเขตเป็นพื้นที่ สมาร์ทซิตี้ ให้กับผู้นำเมือง หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาเมือง ได้กำหนดจัดกิจกรรม "สมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์โรดโชว์" (Smart City Thailand Road Show) ระหว่างเดือนเมษายน - กรกฎาคม 2562 จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น ยะลา พิษณุโลก กระบี่ ชลบุรี และกรุงเทพฯ "โดยกิจกรรมสำคัญ คือ การให้ข้อมูลภาพรวมโครงการ การแนะนำหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการสมัครเป็นเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการอบรมเชิงปฎิบัติการเรื่องแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมในครั้งนี้จะสร้างโอกาสครั้งสำคัญสำหรับเมืองต่างๆ ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง หน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวก หวังจะให้ประชาชนเข้าถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปพัฒนาและปรับเปลี่ยนกิจกรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป สำหรับรายละเอียดและการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม สามารถติดตามได้ที่ www.smartcitythailand..or.th" ดร.ณัฐพล กล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์และประเภทของเมืองอัจฉริยะ โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยจะผลักดันเมืองเป้าหมายเป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านใดด้านหนึ่งบนฐานนวัตกรรม เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น 2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้า จากขยะ ของเสีย ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เป็นต้น 4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการบริหารจัดการ และติดตามเฝ้าระวัง สิ่งแวดล้อมและสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยภิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 5.พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม 6.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม และ 7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เป็นเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริกาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผอ.ดีป้า กล่าวด้วยว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเดิม โดยมีการนำร่องในหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา รวม 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ย่านพหลโยธิน และย่านปทุมวัน) จังหวัดภูเก็ต (เทศบาลเมือง) จังหวัดเชียงใหม่ (ย่านนิมมานเหมินท์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จังหวัดขอนแก่น (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) จังหวัดฉะเชิงเทรา (แปดริ้ว) จังหวัดชลบุรี (นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และท่าเรือแหลมฉบัง) จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ ทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่นำร่อง มีความก้าวหน้า โดยสามารถถอดบทเรียน กำหนดปัจจัยความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเพิ่มเติมในส่วนเมืองใหม่ ใน 8 จังหวัด 15 พื้นที่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Smart EEC) กรุงเทพฯ และปริมณฑล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ