กรมการข้าวเตรียมแจก 4 พันธุ์ข้าวพระราชทาน ในพระราชพิธีพืชมงคลฯ ปี62

ข่าวทั่วไป Tuesday April 23, 2019 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--กรมการข้าว งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562 ประกอบด้วย 2 พระราชพิธี ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 เพื่อประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เพื่อให้ปลอดจากโรคและเจริญงอกงามสมบูรณ์ จากนั้นจึงเริ่มพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์เริ่มต้นด้วยการไถหว่านเมล็ดข้าว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อันเป็นการส่งสัญญาณการเข้าสู่ฤดูกาลทำนาและเพาะปลูกประจำปี นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ขอพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน ณ แปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จำนวน 4 พันธุ์ รวมน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งสิ้น 1,206 กิโลกรัม เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บรรจุในกระบุงเพื่อใช้หว่าน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ส่วนที่เหลือบรรจุใส่ซองพลาสติกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และสิริมงคลในการประกอบอาชีพทางการเกษตรตามประเพณีนิยม จำนวนทั้งสิ้น 366,000 ซอง ประกอบด้วย ข้าวนาสวน จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะและความโดดเด่นในด้านต่างๆ ดังนี้ 1) ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่สามารถทนแล้งได้ดีพอสมควร คุณภาพข้าวสุก มีกลิ่นหอม นุ่ม ให้ผลผลิตประมาณ 363 กิโลกรัมต่อไร่ ลักษณะเมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี และทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม 2) ปทุมธานี 1 เป็นข้าวเจ้าที่นุ่มเหนียว มีกลิ่นหอมอ่อน ให้ผลผลิตสูงประมาณ 650 - 774 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง 3) กข43 เป็นข้าวเจ้าที่มีกลิ่นหอมอ่อน นุ่ม ให้ผลผลิตประมาณ 561 กิโลกรัมต่อไร่ มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนข้างต่ำ และค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 4) กข6 เป็นข้าวเหนียว ให้ผลผลิตสูงประมาณ 666 กิโลกรัมต่อไร่ ทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง มีกลิ่นหอม คุณภาพการสีดี และต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล นายประสงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรมการข้าวยังได้จัดเตรียมกระบุงข้าว หรือที่เรียกว่า คู่หาบเงิน – คู่หาบทอง สำหรับให้เทพีคู่หาบเงิน – คู่หาบทอง ใช้หว่านในวันพระราชพิธีฯ ซึ่งกระบุงข้าว ประกอบด้วย ไม้ไผ่สีสุกนำมาจักเป็นเส้น แล้วหลาวให้ได้ขนาดเดียวกัน นำมาจักสานเป็นกระบุงข้าว จำนวน 8 ใบ ทำการพ่นสีเงิน 4 ใบ และพ่นสีทอง 4 ใบ สำหรับใช้กับเทพีคู่หาบเงิน 2 ชุด และคู่หาบทอง 2 ชุด ในส่วนไม้คาน จะแกะสลักด้วยไม้สักทอง โดยส่วนหัวไม้คานจะแกะสลักเป็นรูปหัวพญานาค ส่วนหางไม้คานจะแกะสลักเป็นหางพญานาค ตัวไม้คานจะใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีจำนวน 8 ข้อ ความยาวประมาณ 110 เซนติเมตร หรือ 46 นิ้ว โดยแต่ละข้อจะมีความหมายว่า ข้อที่ 1 คาน – ข้อที่ 2 แคน – ข้อที่ 3 ยาก – ข้อที่ 4 แค้น – ข้อที่ 5 มั่ง – ข้อที่ 6 มี – ข้อที่ 7 สี – ข้อที่ 8 สุก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่อาชีพเกษตรกร สำหรับสาแหรก ทำจากหวายหอมที่มีความสมบูรณ์ของลำต้นที่สม่ำเสมอ นำมาสานเป็นหัวสาแหรกรูปหัวแหวนพิรอด ซึ่งแสดงถึงการนำพาพืชพันธุ์ธัญหารเจริญเติบโตสมบูรณ์รอดปลอดภัยในปีนั้น ๆ ในส่วนไม้ค้างคาน จะทำด้วยไม้สักทองแกะสลักตกแต่งด้วยสีเงินและสีทอง สำหรับใช้ค้ำไม้คานและกระบุงข้าวคู่หาบเงิน – คู่หาบทองให้สง่างาม และไม้รองกันกระบุง เป็นไม้ที่ใช้รองเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุในกระบุงข้าวให้มีปริมาณข้าวแต่ละข้างน้อยลง ไม่หนักจนเกินไป ทำให้เทพีสามารถหาบข้าวได้นาน ในการนี้ กรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 100 กิโลกรัม สำหรับใช้ซ้อมและในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ