ก็มาดิ Crab! นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนำทีมจิตอาสา ลุยป่าชายเลนเปิดประสบการณ์ “สร้างคอนโดเพื่อ ป.ปู” อนุรักษ์ระบบนิเวศแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Wednesday April 24, 2019 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ด้วยตระหนักว่าทุกสิ่งในระบบนิเวศล้วนเกี่ยวพันกันเป็นห่วงโซ่ ตั้งแต่น้ำ ป่า ตลอดจนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ การอนุรักษ์ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนจึงควรดูแลให้ครบวงจร นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงจัดโครงการ "ก็มาดิ Crab: สร้างคอนโดเพื่อป.ปู" นำทีมจิตอาสากว่า 80 คนลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลน พร้อมเรียนรู้และสร้างคอนโดปู เพื่อเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และที่หลบภัยของปู รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศป่าชายเลน ณ เกาะนก ตำบลท่าข้าม จังหวัดฉะเชิงเทรา วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของชาวไทย โดยเฉพาะอย่างในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่า ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าชายเลนอันเป็นเสมือนปอดที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอากาศ ส่งผลให้ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เกิดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนจำนวนมากทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนควรดูแลให้ครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บริเวณป่าชายเลนด้วย นายสมประสงค์ คำประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลท่าข้าม กล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนและคอนโดปูว่า "ป่าชายเลนถือเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก นอกจากจะเป็นปอดที่ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารและที่อนุบาลของสัตว์น้ำเล็ก ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือปูนานาพันธุ์ ด้วยระบบนิเวศของป่าชายเลนที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างแผ่นดินและทะเล ส่งผลให้สัตว์และพืชในป่าชายเลนต้องเผชิญกับสภาพต่าง ๆ หลายแบบ เช่น สัมผัสกับอากาศและความร้อนจากแสงอาทิตย์ในช่วงน้ำลง สัมผัสกับน้ำในช่วงน้ำขึ้น และบางครั้งก็มีคลื่นลมแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ 'คอนโดปู' จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มนุษย์สามารถช่วยสร้าง เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเป็นบ้านให้ปู และสัตว์น้ำเล็ก ๆ ปรับตัวและมีชีวิตอยู่รอดได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ" การสร้างคอนโดปูเกิดขึ้นและดำเนินการบนแนวคิด "ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ" โดยใช้เศษไม้ ใบไม้ มากองเรียงเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปู ได้ใช้ในการหลบภัย อีกทั้งเศษไม้ใบไม้ก็ยังเป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน และเมื่อนานวันวัสดุจากธรรมชาติก็จะย่อยสลาย ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและขยะตามมาเศษไม้ใบไม้ นายพงศกร ชิตเทพ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้รับผิดชอบโครงการ "ก็มาดิ Crab" กล่าวว่า "ปัจจุบันการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมหรือ CSR เป็นสิ่งที่คนนิยมกันมาก โดยกิจกรรมปลูกป่าเป็นสิ่งที่มักจะได้ยินกัน บ่อยที่สุด แต่คำถามในใจของพวกเราก็คือ นอกจากปลูกป่าแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นอีกไหมที่เราควรทำเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ระบบนิเวศ โครงการก็มาดิ Crab จึงเกิดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รู้จักกับ การสร้างคอนโดปู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่สนุกและน่าสนใจ โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่สนใจอนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นจุดเปลี่ยน ๆ เล็ก ๆ ที่ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้น" ทุกการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ โครงการก็มาดิ Crab โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่แนะนำให้สังคมได้รู้จักกับ "การสร้างคอนโดปู" เพื่อการดูแลระบบนิเวศป่าชายเลนแบบครบวงจร รักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนอันเป็นปอดของประเทศ เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของ คนในสังคม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ