ทูตและนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าหารือสุริยะหวังผลักดันการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2019 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น อุปทูตและคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าหารือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงจุดยืนต้องการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลและพลังงานที่สามารถดึงดูดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมแนะนำรัฐบาลพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างให้ความสำคัญแก่ความคุ้มค่ามากกว่าราคาถูก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบและหารือในประเด็นการค้าและการลงทุน โดยจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดการย้ายฐานการลงทุนของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ซึ่งอุปทูตสหรัฐฯ ได้แจ้งว่ามีความประสงค์จะลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพลังงานที่สามารถดึงดูดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ให้แข่งขันกับนักลงทุนจากประเทศอื่น อาทิ จีน สหภาพยุโรป ได้ โดยแนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาเรื่องนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement policies) ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพของสินค้า รวมทั้งค่าซ่อมอะไหล่และบริการ (Total cost of ownership) และค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาการใช้งาน มากกว่าประเด็นด้านราคาการซื้อในครั้งแรก (Initial price) แต่เพียงอย่างเดียวให้เป็นแนวทาง นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อุปทูตสหรัฐฯ ยังสนใจร่วมมือกับไทยในธุรกิจสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy – BCG) ที่สหรัฐฯ เชี่ยวชาญ ได้แก่ การจัดการของเสีย การศึกษาวิจัยด้านสุขภาพ และสินค้าที่ต่อยอดจากสินค้าเกษตร เช่น น้ำตาล ปาล์ม โดยธุรกิจ BCG เป็นแนวคิดใหม่ที่จะขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของสินค้าขั้นปลายได้มากขึ้น ทั้งนี้ ต่อมาคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ อาทิ เชฟรอน, ดาวเคมีคอล, เอ็กซอนโมบิล, คอช, 3 เอ็ม, ออราเคิล, ทีอี คอนเน็คทิวิตี้, พีแอนด์จี, เอไอจี ฯลฯ ได้เข้าพบหารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยต่างยืนยันความต้องการที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป เนื่องจากยังเห็นว่าภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและพลวัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งการหารือในครั้งนี้เป็นการเสนอแนะมุมมองของเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลนำไปปรับใช้ นายสุริยะกล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ