วีซ่า เผยคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนการชำระค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะด้วยบัตรเครดิตในกระเป๋าสตางค์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2019 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จากการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Survey) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดการชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาถึงทัศนคติ และพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์การใช้จ่ายสำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จากแปดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย จากผลสำรวจพบว่า เกือบสองในสามของคนไทย (64 เปอร์เซ็นต์) มีความประสงค์ที่จะชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของตนเอง และ 67 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการใช้บัตรคอนแทคเลส หรือ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในการชำระค่าโดยสารฯ อีกด้วย นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "วีซ่าได้ร่วมมือกับกว่า 120 หัวเมืองหลักทั่วโลกในการวางระบบการชำระเงินแบบเปิด (Open-loop payment) สำหรับการขนส่งสาธารณะซึ่งจะเห็นได้ว่ามหานครขนาดใหญ่ อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ค สิงคโปร์ และ ซิดนีย์ ได้มีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดในการชำระเงินค่าขนส่งสาธารณะ มาเป็นการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่ง ไปยังจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น" "ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการด้านขนส่งมวลชนที่ใช้รูปแบบการชำระเงินระบบเปิด ยังสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร รวมไปถึงการช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อีกด้วย ซึ่งอ้างอิงถึงผลสำรวจของวีซ่า หัวข้อรายงานสังคมไร้เงินสด (Visa Cashless Cities Report) พบว่า ผู้ให้บริการด้านการขนส่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14.5 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ในการเก็บเงินสด เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเงินดิจิตอลจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 4.2 เซนต์ต่อหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น" นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม การชำระเงินระบบเปิดในระบบขนส่ง คือการยอมรับวิธีการชำระเงินที่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเครือข่ายการขนส่งใด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการที่ผู้โดยสารสามารถชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ และรถโดยสารประจำทางได้ด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตในกระเป๋าสตางค์ที่ออกจากธนาคารโดยตรง ผู้ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า เหตุผลหลักในการเลือกชำระเงินค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะในระบบการชำระเงินแบบเปิด เป็นเพราะ ช่วยลดการพกเงินสดเพื่อนำไปเติมมูลค่าในบัตรโดยสาร (76 เปอร์เซ็นต์) ลดจำนวนบัตรในกระเป๋าสตางค์ (63 เปอร์เซ็นต์) และความสะดวกสบายในการติดตามค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (56 เปอร์เซ็นต์) ในทางกลับกัน ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นข้อด้อยของระบบการชำระเงินแบบปิดอย่างในปัจจุบันคือ การไม่สามารถชำระเงินได้หากมียอดเงินในบัตรไม่เพียงพอ (53 เปอร์เซ็นต์) การต้องเติมเงินในบัตรโดยสารอยู่เสมอ (43 เปอร์เซ็นต์) เมื่อบัตรสูญหายเงินในบัตรไม่สามารถขอคืนได้ (36 เปอร์เซ็นต์) และความยุ่งยากในการเตรียมเงินสดเพื่อเติมเงินในบัตรโดยสาร (35 เปอร์เซ็นต์) เมื่อถามถึงการชำระเงินรูปแบบใดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด ผู้ตอบแบบสำรวจเลือก บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ประเภทคอนแทคเลส (45 เปอร์เซ็นต์) เป็นอันดับแรก ตามด้วยการชำระเงินแบบคอนแทคเลสผ่านสมาร์ทโฟน (22 เปอร์เซ็นต์) และการชำระเงินแบบไบโอเมตริกซ์ (20 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนั้นแบบสำรวจฯ ยังได้ติดตามทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อการชำระเงินสำหรับการเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ ซึ่งพบว่ามากกว่าสี่ในห้า (81 เปอร์เซ็นต์) ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตในรูปแบบคอนแทคเลสในการจ่ายค่าผ่านทางฯ โดยมีเหตุผลหลักในการเลือกทำธุรกรรมแนวไร้เงินสด เพราะไม่ต้องเตรียมเงินสดหรือเติมเงินทิ้งไว้ในบัตรทางด่วน (71 เปอร์เซ็นต์) รวมไปถึงการช่วยลดจำนวนบัตรในประเป๋าสตางค์ (58 เปอร์เซ็นต์) และความสะดวกในการติดตามค่าใช้จ่ายในการใช้การทางพิเศษ (31 เปอร์เซ็นต์) "จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการด้านขนส่งมวลชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า การชำระเงินระบบเปิดในระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการขยายการยอมรับการชำระเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นยังจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในการชำระเงิน รวมไปถึงเป็นการช่วยยกระดับให้ประเทศไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการชำระเงินระบบเปิดจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และวีซ่าพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงศักยภาพอย่างแท้จริง" นายสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ