FAQ: Issue 85 - จับตามอง...ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 26, 2013 14:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 85

“จับตามอง...ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยปี 2556”

ทิพย์สุดา สุขดา และ วศิน โรจยารุณ

Summary

เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องอีกครั้งหลังจากที่เกินดุลเป็นส่วนใหญ่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดความเชื่อมั่นและเงินทุนไหลออกเหมือนในปี 2540 โดยการขาดดุลในระยะหลังมาจาก 1) การนำเข้าทองคำสุทธิสูงขึ้น 2) กำไรและเงินปันผลที่ส่งกลับต่างประเทศสูงขึ้น3) ดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการส่งออกในขณะที่แนวโน้มระยะต่อไปคาดว่าจะขาดดุลมากขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อลงทุนในโครงการภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงนี้ยังไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากการขาดดุลเกิดจากปัจจัยพิเศษซึ่งไม่ได้สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจ ประกอบกับเสถียรภาพต่างประเทศด้านอื่นๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนในโครงการภาครัฐจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอนาคต

1.บทนำ

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากเริ่มมีการขาดดุลร้อยละ 0.4 ต่อ GDP ในปี 2555 และขาดดุลขนาดใหญ่ขึ้นใน 10 เดือนแรกของปี 2556 รวมทั้งมีสัญญาณว่าบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจะขาดดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นการขาดดุลต่อเนื่องครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540

บัญชีเดินสะพัดสะท้อนยอดสุทธิของปริมาณการใช้จ่ายในประเทศกับรายได้ของประเทศ บัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลหมายความว่าคนไทยใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ประเทศจึงต้องกู้เงินหรือลดสินทรัพย์เพื่อมาใช้จ่าย แต่คงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะเมื่อต่างชาติเกิดไม่มั่นใจว่าคนไทยจะสามารถใช้เงินคืน (debt solvency) ก็อาจหยุดการให้กู้ยืมหรือถอนเงินกลับอย่างกะทันหัน (sudden stop) นำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤต ปี 2540 ดังนั้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแบบต่อเนื่องจึงมักถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความเสี่ยง และไม่มีประเทศใดที่อยากมีบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในระดับสูงต่อเนื่อง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปัจจุบัน เกิดจากอะไร แนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และการขาดดุลนี้น่ากังวลมากหรือน้อยเพียงใด 2.ทำความเข้าใจดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

ดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบด้วย 2 ส่วน ตามช่องทางของรายได้จากต่างประเทศ ได้แก่1) ดุลการค้า แสดงรายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้าหักลบด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้า 2) ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ประกอบด้วยรายได้สุทธิจาก ภาคบริการ รายได้จากค่าจ้างแรงงาน ผลประกอบการ และผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศรวมถึงเงินโอนหรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเป็นช่องทางหลักของรายได้ของไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมักเคลื่อนไหวตามดุลการค้า ซึ่งสามารถแบ่งพัฒนาการของดุลบัญชีเดินสะพัดออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 (2536-2540) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10-15 ต่อปี การบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ต้องมีการนำเข้าสินค้าทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและ การลงทุน ขณะที่การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าการนำเข้า และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ทำให้ไม่เกิดการปรับสมดุลของบัญชีเดินสะพัด บัญชีเดินสะพัดจึง ขาดดุลต่อเนื่องประมาณร้อยละ 6-8 ต่อ GDP นำไปสู่ความถดถอยของความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย มีเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรง กระทั่งนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและมีการประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ในที่สุด

ช่วงการเติบโตของภาคการส่งออก (2541 -2554)ในช่วงนี้อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงมากจากช่วงก่อนหน้าช่วยให้การส่งออกสามารถขยายตัวดีเฉลี่ยร้อยละ 10.8 ต่อปี ส่วนการนำเข้าชะลอลง ดุลการค้าจึงเกินดุลในระดับสูง แต่ในขณะเดียวกัน กระแสโลกาภิวัตน์และการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งในรูปของการ ตั้งกิจการและการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ไทยจึงมีการจ่ายกำไรจากผลประกอบการและเงินปันผลกลับไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลรายได้และเงินโอนขาดดุลต่อเนื่อง แต่ถูกชดเชยด้วยการเกินดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงยังเกินดุลในภาพรวม และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้เสถียรภาพด้านต่างประเทศมั่นคงขึ้น

ช่วงการส่งออกเริ่มชะลอตัว (2555- ปัจจุบัน) เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก การส่งออกของไทยชะลอตัวลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงมีแนวโน้มที่จะเกินดุลน้อยลงตาม ดุลการค้าที่เกินดุลลดลงขณะที่ดุลรายได้และเงินโอนยังคงขาดดุลอยู่ อย่างไรก็ดี ในบางช่วงมีปัจจัยพิเศษที่ทำให้บัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลน้อยกว่าที่ควร หรือแม้แต่กลับกลายเป็นขาดดุล ที่สำคัญมี 3 ประการ ดังนี้

1) การนำเข้าทองคำเพื่อการลงทุนมีมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยสนใจลงทุนในทองคำมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินและมีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์*(1) อีกทั้งรสนิยมของคนไทยที่ชอบสะสมทองคำแท่งมากกว่าการลงทุนในทองคำกระดาษ เช่น บัญชีรับฝากทองคำหรือตราสารอนุพันธ์ การนำเข้าทองคำที่เดิมมีเพียงส่วนของวัตถุดิบเพื่อการผลิตเครื่องประดับเป็นสำคัญจึงกลายมามีส่วนที่นำเข้าเพื่อการเก็บสะสมในรูปของทองคำแท่งมากขึ้น

ในปี 2555 มีการนำเข้าทองคำสุทธิ 5.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของ ปี 2556 มีการนำเข้าทองคำสุทธิสูงถึง 10.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการนำเข้าสุทธิเฉลี่ยในช่วง ก่อนหน้า เพียง 0.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปีเท่านั้น

การส่งออกนำเข้าทองคำส่วนใหญ่มิได้สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก รวมถึงไม่ได้ชี้ถึงแนวโน้มดุลการค้าในระยะยาว เนื่องจากการค้าทองคำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตและการจ้างงานค่อนข้างต่ำ อีกทั้งในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโลกปรับดีขึ้น ระดับอัตราดอกเบี้ยโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทย ก็จะปรับสูงขึ้นกลับไปสู่ระดับปรกติ ความน่าสนใจของการลงทุนในทองคำก็จะบรรเทาลงจากปัจจุบัน ทั้งนี้ หากหักการนำเข้าทองคำสุทธิออกแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุลต่อเนื่อง สะท้อนว่าไทยยังคงมีความสามารถในการหารายได้สุทธิเข้าประเทศ

2) กำไรและเงินปันผลส่งกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ปี 2556

โดยปรกติบริษัทข้ามชาติในไทยมักจะส่งกำไรและเงินปันผล (profits and dividends) กลับบริษัทแม่ในต่างประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของทุกปี ทำให้ดุลรายได้และเงินโอนจะขาดดุลค่อนข้างมาก เป็นปรกติในไตรมาสดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 การจ่ายกำไรและเงินปันผลยิ่งสูงเป็นพิเศษ โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 40 จากผลประกอบการปี 2555 ที่ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอุทกภัย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นปีเป็นปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมให้บริษัทต่างชาติเร่งส่งเงินกลับประเทศ

อย่างไรก็ดี ในอนาคตดุลรายได้และเงินโอนคาดว่าจะไม่ขาดดุลสูงเท่ากับในปี 2556 ซึ่งมีปัจจัยพิเศษจากผลประกอบการที่ดีกว่าปรกติในปี 2555 จากมาตรการรถยนต์คันแรก 3) แนวโน้มการส่งออกชะลอตัว

นอกจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ในระยะหลัง ดุลการค้าที่เกินดุลลดลงยังเป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัว มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2555 และ 10 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 และ 0.1 ตามลำดับ โดยการส่งออกที่หดตัวมาจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

ด้านอุปสงค์ การส่งออกของไทยชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกขาลง โดยในปี 2555 การส่งออกของโลกโดยรวมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 และในปี 2556 องค์การการค้าโลก (WTO) ประมาณการมูลค่าการส่งออกของโลกว่าจะขยายตัวเพียง ร้อยละ 2.5 (WTO, 2013a) ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในอดีตที่เฉลี่ยร้อยละ 8.0 ต่อปี*(2)

ด้านอุปทาน การส่งออกไทยในระยะหลังเติบโตได้ช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาค เนื่องจากภาค การผลิตของไทยบางอุตสาหกรรมยังมีข้อจำกัด ด้านอุปทาน ได้แก่ (1) เทคโนโลยีการผลิตไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงรสนิยมในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกลุ่ม smart phone และ solid state drive (SSD) (2) ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสัดส่วนสูงมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง (3) ข้าวสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ (4) สินค้าประมงของไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจาก โรคระบาดในกุ้งซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว

แม้ว่าการนำเข้าในระยะหลังจะชะลอตัวตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสอดคล้องกับ ภาคการผลิตและการส่งออก แต่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนยังอยู่ในระดับปรกติ ส่งผลให้ดุลการค้าที่หักทองคำในปี 2555 เกินดุล 11.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2541-2553 ซึ่งเกินดุล 16.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าคาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลน้อยกว่าในปัจจุบันจากดุลการค้าที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การนำเข้าทองคำที่น่าจะลดลงสู่ระดับปรกติตามภาวะอัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มราคาทองคำที่อยู่ในช่วงชะลอตัว*(3) และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่จะไม่สูงเท่ากับปัจจุบันเนื่องจากผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหมดไป อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยอาจจะขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนักด้วยข้อจำกัดทางอุปทานทำให้ดุลบัญชีโดยรวมคาดว่าจะยังคงขาดดุล

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะส่งผลกระทบบัญชีเดินสะพัดในระยะถัดไปคือ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในระบบคมนาคมขนส่งเป็นหลัก ทำให้ต้องมีการนำเข้าสินค้าทุนเป็นมูลค่าสูง อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐจะกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้มีการใช้จ่ายและนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่อง 4.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างไรจึงอันตราย

ในทางทฤษฎี ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุชัดเจนว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้นั้นจะต้องอยู่ที่ระดับใดและขาดดุลต่อเนื่องนานเพียงใด ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 4.5-5 ต่อ GDP นานนับทศวรรษได้โดยที่ไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ*(4) คำถามประการสำคัญคือ ปัจจัยใดที่ผลักดันให้ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากงานศึกษาเชิงประจักษ์*(5) พบว่ามีปัจจัยดังนี้

อุปสงค์ในประเทศร้อนแรงจนเกินไป การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแสดงการมีรายจ่ายสุทธิในการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศซึ่งอาจเกิดจากการบริโภคและการลงทุนที่มากเกินความจำเป็น สะท้อนอุปสงค์ที่ขยายตัวสูงกว่าศักยภาพเศรษฐกิจจริงและเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนเกินไปหรือมี ฟองสบู่ นำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจได้

ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดจากการส่งออกที่อ่อนแอ หรือการนำเข้าสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตเป็นมูลค่าสูง สะท้อนศักยภาพทางการค้าระหว่างประเทศ ที่แย่ลง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงโดยเฉพาะการผลิตและการจ้างงาน ความสามารถในการชำระเงินและความน่าเชื่อถือของประเทศ ตลาดมักจับตามองว่าบัญชีเดินสะพัดสะท้อนรายได้เข้าประเทศและความสามารถในการชำระเงินคืน หากประเทศมีฐานะแย่ลงจนตลาดสูญเสียความเชื่อมั่นต่อความสามารถชำระเงินคืน อาจทำให้ประเทศไม่สามารถขอกู้ยืมต่อ หรือผู้เข้ามาลงทุนเดิมอาจถอนเงินกลับประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าจนเกินไป ในทางทฤษฎีแล้วอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นตัวปรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดให้กลับสู่สมดุลโดยอัตโนมัติ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะสะท้อนต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำเกินไปและอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ในบางครั้งอัตราแลกเปลี่ยนอาจปรับตัวได้ช้าเกินไปเนื่องจากถูกแทรกแซงหรือมีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกโจมตีสกุลเงินและทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่ากังวลเพียงใด

จากงานศึกษาเชิงประจักษ์ เมื่อพิจารณาการขาดดุลของไทยในระยะหลัง ยังพบว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในช่วงหลังยังไม่น่ากังวลเนื่องจาก(1) การขาดดุลในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยพิเศษ ได้แก่ พฤติกรรมการลงทุนในทองคำที่มากขึ้น และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลซึ่งสูงกว่าปรกติจากผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังอุทกภัย และผลจากมาตรการรถยนต์คันแรก โดยปัจจัยเหล่านี้มิได้สะท้อนว่าความสามารถในการหารายได้ของไทยในระยะยาวลดลง อีกทั้งการขาดดุลจากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะมีผลน้อยลงเมื่อเทียบกับในปี 2556 ส่วนการส่งออกของไทยจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกในอนาคตผ่านการยกระดับประสิทธิภาพระบบขนส่ง ช่วยเสริมความสามารถในการหารายได้เข้าประเทศในอนาคต

(2) เสถียรภาพต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและรองรับการไหลออกของเงินทุนได้ โดยระดับหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ และปริมาณเงินทุนสำรองค่อนข้างสูง (ตาราง 1) อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่งผลให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและมีโอกาสต่ำที่จะเกิดปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกฉับพลัน(sudden stop)

ตาราง 1 เสถียรภาพต่างประเทศของไทย
เครื่องชี้วัดเสถียรภาพ สิ้นไตรมาส 3 ก่อนวิกฤต เกณฑ์การ
        ต่างประเทศ       ปี 2556    เศรษฐกิจ*    พิจารณา
สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ      38.0          58.2      48
GDP (%)
สัดส่วนเงินสำรองฯ ต่อหนี้      2.8           0.9      1
ต่างประเทศระยะสั้น
ระบบอัตราแลกเปลี่ยน        ลอยตัว          คงที่       -
หมายเหตุ : * ค่าเฉลี่ย ปี 2536-2539
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

(3) ปัจจุบันไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ซึ่งสามารถปรับตัวได้ตามกลไกตลาดและเป็นตัวช่วยปรับบัญชีเดินสะพัดอัตโนมัติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากในอดีตที่อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ไม่สามารถปรับสมดุลของบัญชีเดินสะพัดได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรจับตามองในระยะต่อไปคือ การส่งออก ซึ่งสะท้อนความสามารถในการหารายได้ของไทย ในอนาคตคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าอดีตจากศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดโลกและข้อจำกัดด้านอุปทานของสินค้าไทยที่เริ่มอ่อนแอลง ขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวสูงจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทำให้ดุลการค้าจะยังไม่สามารถชดเชย การขาดดุลของดุลบริการ รายได้และเงินโอนได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ บัญชีเดินสะพัดจะสามารถกลับมาเกินดุลได้หรือไม่นับเป็นความท้าทายของไทยในระยะต่อไป ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้นได้คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

References

De Mello, L., P.C. Padoan and L. Rousov, 2011, "The Growth Effects of Current Account Reversals: The Role of Macroeconomic Policies", OECD Economics Department Working Papers 871.

Edwards, S., 2004, "Thirty Years of Current Account Imbalances, Current Account Reversals and Sudden Stops," NBER Working Papers 10276.

Gosh, A. and U. Ramakrishnan, 2006, "Current Account Deficits: Is There a Problem?" Financial and Development , Volume 43, Number 4.

Reisen, H., 1998, "Sustainable and Excessive Current Account Deficits", Empirica , Vol. 25, pp. 111-131.

Milesi-Ferretti, G. M. and A. Razin, 1998, "Sharp Reductions in Current Account Deficits - An Empirical Analysis", European

Economic Review , Vol. 42, pp. 897-908. Milesi-Ferretti, G. M. and A. Razin, 2000, "Current Account Reversals and Currency Crises - Empirical Regularities", in Paul Krugman (ed.), Currency Crises , University of Chicago Press. Economic Intelligence Unit, 2013, "World Commodity Forecasts: Industrial Raw Materials", September 2013.

World Trade Organization, 2013a, "WTO Press/694", 2013 Press Release.

World Trade Organization, 2013b, "World Trade Report 2013 : Factors Shaping the Future of the World", WTO publication, 2013.

วัสยา ลิ้มธรรมมหิศร และปัณฑา เกตุเรืองโรจน์, 2011, "การส่งออกและนำเข้าทองคำ: นัยต่อการวิเคราะห์ตัวเลขดุลการค้าไทย", Focus and Quick , ฉบับที่ 51, ธนาคารแห่งประเทศไทย

*(1) วัสยา และปัณฑา (2011)

*(2) ค่าเฉลี่ยพ.ศ. 2548-2554 จาก WTO (2013b)

*(3) แนวโน้มราคาทองคาประมาณการโดย Economist Intelligence Unit (2013)

*(4) Gosh and Ramakrishnan (2012)

*(5) เฉพาะงานที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงบัญชีเดินสะพัดอย่างฉับพลัน (Current Account Reversal) และก่อให้เกิดการหดตัวของ GDP ซึ่งได้แก่ Milesi-Ferretti, Maria and Razin (1996, 2000), Reizen (2000), Edwards (2004) และ Mello , Padoan and Rousov? (2011)

ผู้เขียนขอขอบคุณหลายท่านในสายนโยบายการเงินสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทำให้บทความนี้ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณปิติ ดิษยทัต คุณจีรพรรณ โอฬารธนาเศรษฐ์ คุณเทียนทิพ สุพานิช คุณสุรัช แทนบุญ คุณศุภโชค ถาวรไกรวงศ์ และทีมวิเคราะห์ดุลการชำระเงิน สำหรับคำแนะนำที่ช่วยทำให้บทความนี้อ่านง่ายขึ้น

Contact authors:

ทิพย์สุดา สุขดำ

เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน ThipsudS@bot.or.th

วศิน โรจยารุณ

เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน

สายนโยบายการเงิน WasinR@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ