แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 31, 2014 13:40 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 33/2557

เศรษฐกิจเดือนมิถุนายน 2557 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่สูงขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มมีความชัดเจน อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้ามีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูงธุรกิจจึงลดระดับการผลิตลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าไปเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,527 ล้านดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการส่งออกปิโตรเคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมที่ขยายตัวสูงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนอย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และแผงวงจรรวมยังฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากอุปสงค์จากเอเชียยังอ่อนแอ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นช่วยเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับคืนมา ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าคงทนยังค่อนข้างทรงตัว แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.1 ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนแต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.7 โดยธุรกิจยังชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายภาครัฐ การลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างยังหดตัวตามอุปสงค์ในาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้ามีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงลดระดับการนำเข้าวัตถุดิบ รวมทั้งลดระดับการผลิตลง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 15,664 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 14.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 6.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1) การผลิตยานยนต์ที่มีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถชดเชยผลของฐานสูงในปีก่อนได้ 2) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ความต้องการในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ 3) การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่สินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งคำสั่งซื้อจากภูมิภาคเอเชียที่อุปสงค์ยังอ่อนแอ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีปัญหาการเมืองภายในประเทศ

ภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง เนื่องจากทางการหลายประเทศยังคงระดับคำแนะนำในการเดินทางมาประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้มีจำนวน 1.6 ล้านคน หดตัวร้อยละ 24.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลงและการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันที่13 มิถุนายน 2557 ช่วยให้ภาวะการท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน

รายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากทั้งราคาและผลผลิต แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนรายได้เกษตรกรหดตัวจากผลของราคา โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพาราที่ลดลงมากจากปริมาณสต็อกในตลาดที่อยู่ในระดับสูง สำหรับผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่ผลผลิตข้าวหดตัวจากปริมาณน้ำที่ไม่เอื้ออำนวยภาครัฐใช้จ่ายโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากเร่งเบิกจ่ายเงินโอนให้กองทุนหมู่บ้านไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการใช้จ่ายงบลงทุนสามารถทำได้เพียงบางส่วน สำหรับรายได้นำส่งลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการจัดเก็บจากภาษีฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 126 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้าจากการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย รวมถึงการให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี การลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศกลับมาเป็นการไหลเข้าสุทธิ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจให้กลับคืนมาส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่ขยายตัวได้ แต่การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากอุปสงค์ของภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ