สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 2, 2014 13:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 17/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2557 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากปัจจัยความเชื่อมั่นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้การอุปโภคบริโภคเร่งตัวต่อเนื่องและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ส่วนการท่องเที่ยวเริ่มเห็นการฟื้นตัวหลังการประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามการส่งออกลดลงจากปัญหาราคายางที่ตกต่ำด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานใกล้เคียงกับเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามความเชื่อมั่นที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนและเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้สูงถึงร้อยละ 24.6 จากหมวดค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นสำคัญสอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้น แม้จะยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนโดยลดลงร้อยละ 3.1 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 เดือน และกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีจำนวนสูงถึง 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7,028.4 ล้านบาท เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ ทำให้สามารถอนุมัติโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาทได้

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนขยายตัวร้อยละ 3.8 ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องที่เร่งตัวขึ้นในตลาดตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นจากที่ลดลงติดต่อกันมาถึง 17 เดือน จากความต้องการเพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ปลาและปลาหมึก ขณะที่การผลิตกุ้งขาวยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นตามความต้องการในเกือบทุกตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและ ญี่ปุ่น ขณะที่การผลิตน้ามันปาล์มดิบชะลอลงตามปริมาณวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามการผลิตยางแปรรูปลดลงตามความต้องการของคู่ค้าที่ลดลงเกือบทุกตลาด สำหรับตลาดจีนและสหภาพยุโรปยังนาเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตยางล้อในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมาก

การท่องเที่ยว เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น หลังการประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร ส่งผลต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากเทศกาลฮารีรายอทาให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 3.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 20.6 ในเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย โดยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง ที่สำคัญเดือนนี้มีการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากกระบี่ไปจีนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามรายได้จากภาคเกษตรยังคงลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน จากผลด้านราคาและปริมาณ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 9.0 ตามราคายางที่ลดลงต่าสุดในรอบ 5 ปี จากแรงกดดันด้านผลผลิตมีมากกว่าความต้องการใช้ยางของโลกและปัจจัยลบจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีทิศทางอ่อนตัว ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.9 จากผลผลิตกุ้งขาวที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นจากปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 9.8

มูลค่าการส่งออกลดลงจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากราคายางที่ลดลงต่อเนื่องส่งผลให้การส่งออกเดือนนี้มีมูลค่า 1,106.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 ขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยาง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และอาหารทะเลแช่แข็ง เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.8 ตามการเร่งรัดอนุมัติการเบิกจ่ายโครงการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรในหมวดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.39 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.46 ในเดือนเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ตามราคาอาหารสดและพลังงาน เป็นสาคัญ

เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความต้องการของสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดกลางขยายตัวสูงกว่าไตรมาสก่อน สะท้อนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนที่ดีขึ้น ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคยังคงชะลอตัว ด้านเงินฝากขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากเงินฝากประจำที่หดตัวมากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ