สรุปการสัมมนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี ธปท. สภอ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 10, 2014 14:51 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2557

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ "โค้งสุดท้ายสู่ AEC . อีสานกับ CLMV จะปรับตัวอย่างไร" เนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี แห่งการก่อตั้ง ธปท. สภอ. เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2557 เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ ห้องออคิด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด โดย นายเพิ่มสุข สุทธินุ่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยบุคลากรภาครัฐภาคเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป ประมาณ 600 คน

ในการสัมมนามีการแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "โค้งสุดท้ายสู่ AEC . อีสานกับ CLMV จะปรับตัวอย่างไร" โดย นายพิษณุ จันทร์วิทัน เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งได้สรุปว่า ปัจุบันประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ AEC หลายประการ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าเมื่อเข้าสู่ AEC ในปลายปี 2558 ไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งแท้จริงแล้วการรวมกลุ่ม AEC ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแข่งขันกันเองภายในภูมิภาค แต่เป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ซึ่งไทยจะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติ นโยบาย และกฎระเบียบของประเทศให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม AEC อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อาเซียนควรให้ความสำคัญกับอีก 2 เสาหลักของประชาคมอาเซียน คือ การเมือง ความมั่นคง และสังคม วัฒนธรรม เพื่อให้ภูมิภาคมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยให้การรวมกลุ่มด้านเศรษฐกิจหรือ AEC เป็นไปอย่างราบรื่น

สำหรับการเสวนาเรื่อง "โค้งสุดท้ายสู่ AEC . อีสานกับ CLMV จะปรับตัวอย่างไร" มีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา 4 ท่าน ประกอบด้วย นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝายการพาณิชย์) ประจำกรุงพนมเปญ และผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงพนมเปญ Mr. Moe Myint Kyaw Managing Director, Myanmar Makro Industry Co., Ltd. และ นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร. พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

การเข้าร่วม AEC เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกปจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรวมกลุ่ม AEC เป็นการดึงศักยภาพของแต่ละประเทศออกมา ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนกันและกัน (Synergy) และเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลก อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่ AEC ในปลายปี 2558 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากปจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอยู่มาก ขณะเดียวกันด้านการค้า แม้ประเทศส่วนใหญ่จะปรับลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละศูนย์แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) นอกจากนี้ นโยบายของประเทศสมาชิกหลายด้านยังไม่สอดคล้องกัน และ การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันยังไม่เพียงพอ ซึ่งหากสามารถแก้ไขประเด็นเหล่านี้ได้ AEC จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นต้องออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง อีกทั้งสินค้าไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการอาจเริ่มจากเข้าไปสำรวจตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ทำความเข้าใจสังคม และวัฒนธรรม เพื่อนำมาวางแผนและปรับปรุงรูปแบบของสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมกับประเทศที่จะไปลงทุน จากนั้นจึงเริ่มทดลองส่งสินค้าไปจำหน่าย หรือเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน หากได้รับการตอบรับดีจึงค่อยเข้าไปลงทุน ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการได้

อุปสรรคสำคัญของการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV คือ เรื่องกฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงบ่อย เนื่องจาก CLMV ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีภายหลังไทย จึงต้องค่อย ๆ ปรับกฎระเบียบให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปจจุบัน ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงควรลงทุนในลักษณะร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถขอรายชื่อผู้ประกอบการท้องถิ่น และคำแนะนำจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์ และสมาคมธุรกิจไทย ที่ประจำอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนเศรษฐกิจภาค โทร. 0 4333 3000 ต่อ 3437 E-mail: Manatchj@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ