สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม ปี 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 2, 2014 15:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 18/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนสิงหาคม 2557 โดยรวมอ่อนตัวจากเดือนก่อน ตามการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะเดียวกันมีแรงกดดันจากราคายางที่ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับการท่องเที่ยวลดลงหลังจากพ้นช่วงเทศกาลฮารีรายอ และความไม่สะดวกจากประกาศของจังหวัดสงขลาให้รถโดยสารที่จดทะเบียนต่างประเทศนานักท่องเที่ยวเข้ามาได้เฉพาะพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

เศรษฐกิจโดยรวมอ่อนตัวจากเดือนก่อน จากแรงกดดันด้านราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 16.0 ตามราคายางที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจของจีนบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลง รวมทั้งปัจจัยลบจากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง นอกจากนี้ตลาดรอดูความชัดเจนในการจัดการสต็อกยางของรัฐบาลไทย ขณะเดียวกันดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.2 จากผลผลิตกุ้งขาวที่ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากปัญหาโรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลายและผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 21.2

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 9.4 ตามการผลิตอาหารทะเลกระป๋องที่เร่งตัวมากจากความต้องการของตลาดตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางปีก่อนและความต้องการเพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ปลาและปลาหมึกแปรรูป ตามความต้องการของตลาดสหภาพยุโรป การผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป และการผลิตไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดมาเลเซียเป็นสำคัญ ขณะที่ความต้องการจากจีนลดลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว

การท่องเที่ยวหดตัวจากเดือนก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 500,685 คน ลดลงร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากการลดลงของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง เนื่องจากฐานสูงจากเทศกาลฮารีรายอในเดือนเดียวกันปีก่อน ประกอบกับเดือนนี้จังหวัดสงขลาได้มีการประกาศให้รถโดยสารที่จดทะเบียนในต่างประเทศเดินทางเข้ามาได้เฉพาะพื้นที่จังหวัดสงขลา หากจะออกนอกพื้นที่จังหวัดสงขลาต้องยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบก และยังคงการใช้ประกาศกฎอัยการศึกส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวตลาดเอเชีย อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa Fee)

จากรายได้เกษตรกรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ประกอบกับการผลิตและการท่องเที่ยวลดลงท้าให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อน ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเครื่องชี้สำคัญยังลดลงทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ มูลค่าการน้าเข้าสินค้าทุน และการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 8.5 เป็นผลจากราคายางที่ลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งราคาถุงมือยางและอาหารทะเลบรรจุกระป๋องปรับลดลง เป็นสำคัญส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 29.8 ตามการนำเข้าที่ลดลงของเครื่องจักรอุปกรณ์ อุปกรณ์ก่อสร้างและน้ำมันเชื้อเพลิง

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนทรงตัว โดยรายจ่ายลงทุนลดลง ขณะที่รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายเงินเดือนตกเบิกของข้าราชการในบางจังหวัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรลดลงร้อยละ 6.1 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิต

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.09 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.14 ในเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.33 ชะลอลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ตามราคาอาหารสดและพลังงาน เป็นสำคัญ

เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 ขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.7 ชะลอตัวต่อเนื่อง ด้านเงินฝากขยายตัวร้อยละ 3.7 เป็นผลจากการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนราชการตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สานักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 0 7427 2000 ต่อ 4716

E-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ