แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 29, 2016 14:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2559

เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว แม้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นบ้าง แต่กำลังซื้อภาคครัวเรือนถูกถ่วงด้วยรายได้เกษตรที่ลดลงจากผลกระทบของภัยแล้งที่ปรากฏชัดในเดือนนี้ และชั่วโมงการทำงานภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมกระเตื้องขึ้นบ้างโดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังกระจุกตัวในบางธุรกิจ ด้านมูลค่าการส่งออกที่หักทองคำหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกที่ยังต่ำตามราคาน้ำมัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบจากผลของราคาน้ำมัน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานในบางภาคส่วนปรับลดลงบ้าง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่สูงและมูลค่าการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว ร้อยละ 15.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนและยุโรปที่ขยายตัวดีขึ้น

การใช้จ่ายของภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่องยังคงเป็นแรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะรายจ่ายประจำเพื่อซื้อสินค้าและบริการในการดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลที่เบิกจ่ายได้ดี แม้รายจ่ายลงทุนแผ่วลงบ้างหลังการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ด้านการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 13.4 ตามการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G และรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นบ้างจากการซื้อรถยนต์ในกลุ่มรถกระบะดัดแปลงและจักรยานยนต์ขนาดใหญ่แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนชะลอลงสะท้อนการระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรที่ผลผลิตถูกกระทบจากภัยแล้งเป็นสำคัญ

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่นับรวมทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 เป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า อาทิ สินค้าในหมวดปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน และบางส่วนจากการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องจักรขยายตัวตามการส่งออกเครื่องจักรสำหรับการขุดเจาะน้ำมันไปยังประเทศบราซิล ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะน้ำตาลและสับปะรดกระป๋องตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 9.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงสอดคล้องกับภาวะการส่งออก และหมวดเชื้อเพลิงที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 1) ราคาน้ำมันดิบที่ยังต่ำกว่าปีก่อน และ 2) การปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดโทรคมนาคมขยายตัวตามการนำเข้าสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจสื่อสารเพื่อรองรับระบบ 4G และในธุรกิจพลังงานทดแทนที่ยังขยายตัวได้ โดยภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนตามภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีเพียงพอ สอดคล้องกับการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ชะลอลงตามการหดตัวของสินเชื่อใหม่ที่ให้แก่ภาคธุรกิจ ขณะที่การออกหุ้นกู้ค่อนข้างทรงตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหลัก อาทิ การผลิตยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถกระบะดัดแปลงที่ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์สภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวต่อเนื่องตามการชะลอลงของอุปสงค์ต่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ -0.46 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากผลของราคาในหมวดพลังงาน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานในบางภาคส่วนปรับลดลงบ้าง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จาก 1) การถอนการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทย และ 3) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย

แรงส่งของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 แผ่วลงเล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงหลังจากเร่งไปในไตรมาสก่อนจากปัจจัยชั่วคราว ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน และราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันยังลดลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำ โดยการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมยังขยายตัวได้บ้าง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดียังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอย หมดลง อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยตามการจ้างงานภาคบริการที่ปรับดีขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำ รายได้ด้านการท่องเที่ยวที่สูง และมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ