สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนเมษายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 31, 2016 15:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 10/2559

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนเมษายน ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมในเดือนเมษายน 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน ภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ขณะที่กำลังซื้อครัวเรือนส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นและรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัวได้จากสัญญาณการฟื้นตัวด้านราคาสินค้าเกษตรทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ ส่วนการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะแผ่วลงหลังจากได้เร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้า ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงตามการผลิตในบางอุตสาหกรรมตามข้อจำกัดด้านปริมาณวัตถุดิบและการชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคาวัตถุดิบ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบในอัตราที่น้อยลงมากตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงในช่วงก่อนหน้าที่ลดลงและราคาอาหารสดเร่งขึ้นจากผลกระทบภัยแล้ง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกกลุ่ม ทั้งจีน สแกนดิเนเวีย ยุโรป และรัสเซีย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ที่กระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในประเทศและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่นอกเหนือจากงานเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้นประจำปี ส่งผลบวกต่ออัตราการเข้าพักโรงแรมและเที่ยวบินผ่านท่าอากาศยานภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น

การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ โดยกำลังซื้อส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากราคาที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ ทำให้เครื่องชี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้น ทั้งการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค การใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นบ้างจากกำลังซื้อในจังหวัดหลักที่มีภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนเกือบทุกหมวดยังคงหดตัว

รายได้เกษตรกรมีสัญญาณที่ดีขึ้นมาก ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่กลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะราคายางพารา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันรับซื้อยางเนื่องจากความกังวลด้านผลกระทบภัยแล้งและปัจจัยบวกจากการรับซื้อยางของการยางแห่งประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้จีน ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับดีขึ้นและผลด้านจิตวิทยาจากมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางตามมติความร่วมมือไตรภาคียางพารา ส่วนราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้นหลังจากที่ผลผลิตได้รับผลกระทบภัยแล้ง และราคากุ้งขาวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตคู่แข่งประสบปัญหาโรคระบาด ด้านผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลงจากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลง ส่วนผลผลิตยางและกุ้งขาวเพิ่มขึ้น

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังเพิ่มขึ้น แม้จะแผ่วลงบ้างหลังจากได้เร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้า โดยการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นสำคัญ ขณะที่การเบิกจ่ายในรายจ่ายประจำหดตัวจากหมวดเงินเดือน ที่มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากร

การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง เนื่องจากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่โรงงานและอัตราการให้น้ำมันของผลปาล์มลดลง ขณะเดียวกันการผลิตอาหารทะเลกระป๋องลดลงตามคำสั่งซื้อคู่ค้า เพื่อรอประเมินทิศทางราคาวัตถุดิบทูน่าในอนาคต ประกอบกับการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งชะลอลงมากตามปริมาณวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบปลาและหมึกได้รับผลกระทบจากการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยางแปรรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อจากประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตยางแปรรูปเพื่อส่งมอบให้จีนของการยางแห่งประเทศไทย ส่วนการผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อคู่ค้าหลัก ด้านมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนจากการส่งออกหมวดสินค้าอื่น อาทิส่วนประกอบของอากาศยาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และน้ำมันดิบ ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญหดตัวน้อยลงจากผลของราคาสินค้าเกษตรส่งออกปรับดีขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.19 เนื่องจากฐานราคาน้ำมันสูงที่ทยอยหมดลงและราคาอาหารสดเร่งขึ้นจากผลกระทบภัยแล้ง ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.68 โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปี 2559 เงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนเดียวกันปีก่อน จากการโอนเงินของส่วนราชการและการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาสภาพคล่องและรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจหลังจากที่ครบกำหนดในบัญชีเงินฝากประจำและกองทุนรวม ด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลให้สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัว ประกอบกับสินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4717

E-mail :Jularatk@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ