สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนธันวาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 30, 2016 16:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2560

เรื่อง สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนธันวาคม ปี 2559

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนธันวาคม ปี 2559 ขยายตัวจากเดือนก่อน จากรายได้เกษตรที่เร่งตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านราคาโดยเฉพาะราคายางพารา อย่างไรก็ตาม แม้ราคาสินค้าเกษตรจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ปัญหาอุทกภัยช่วงต้นเดือนธันวาคม ทำให้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนนี้ขยายตัว เป็นผลมาจากการเร่งผลิตยางพาราแปรรูปเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ แต่การผลิตอาหารทะเลกระป๋องยังคงหดตัวต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นผลจากการลดค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมทั้งนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอัตราการว่างงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

รายได้เกษตรกรเร่งตัวมากจากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งยังคงเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพารา เนื่องจากความต้องการซื้อจากตลาดหลักจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับกุ้งขาว ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากการชะลอการจับกุ้งในเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนราคาเพิ่มขึ้นเช่นกันตามความต้องการซื้อจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศขยายตัว ส่วนปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตและราคา เนื่องจากการแย่งซื้อผลผลิตของโรงสกัด

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวสูงในเดือนนี้เนื่องจากการเบิกจ่ายในโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกอบกับการเบิกจ่ายในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเดียวกันปีก่อน ในหมวดที่ดินสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์และเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพากร สรรพสามิตและอากรขาเข้าจากด่านศุลกากร

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในเดือนเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งซื้อก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือนมกราคม 2559 นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยภาคใต้ช่วงต้นเดือนธันวาคม

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่เร่งตัวเพื่อส่งออกไปยังตลาดหลักจีน เนื่องจากราคายางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในจีนเร่งสต็อกสินค้า ขณะที่การผลิตถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปขยายตัวดีเช่นกัน ตามความต้องการซื้อที่มีต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ หลังจากลดลงมาต่อเนื่อง ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เข้าสู่โรงงานมากขึ้นเนื่องจากภาวะภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารทะเลกระป๋องยังคงลดลงต่อเนื่อง จากราคาวัตถุดิบทูน่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมบริโภคปลาทูน่าในน้ำเกลือและน้ำมันลดลง นอกจากนี้ การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งลดลง ตามการลดลงของการผลิตปลาแช่เย็นแช่แข็งเป็นสำคัญ จากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ประกอบกับการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งขยายตัวต่ำในเดือนนี้เนื่องจากผลผลิตมีจำกัด

มูลค่าการส่งออกขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ตามการส่งออกยางพาราแปรรูป ทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง รวมทั้งการส่งออกถุงมือยางและไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม สำหรับมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวในหมวดอากาศยาน เรือ แท่นและรถไฟ รวมทั้งสินค้าประมง ซึ่งเป็นการนำเข้าปลา กุ้ง และปลาหมึกแช่แข็ง

จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเดียวกันปีก่อน และขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าของภาครัฐ ประกอบกับนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลง เนื่องจากเงินริงกิตที่อ่อนค่าและการงดจัดงานรื่นเริงในช่วงปลายปี ทำให้เดินทางมายังภาคใต้ชายแดนลดลง

การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในภาคการค้าและอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง สะท้อนจากยอดจำหน่ายปูนและยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่หดตัว นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง สะท้อนการลงทุนของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการบริการและขนส่งเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงแรมที่ได้รับการส่งเสริมเงินลงทุนสูงสุดในภาคใต้

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.55 สูงขึ้นต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ตามราคาผัก ผลไม้ ปลาและสัตว์น้ำ เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.91 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่เร่งตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะภาคการค้า

ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 เงินฝากรวมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการถอนเงินไปลงทุนยังสินทรัพย์อื่นในช่วงปลายปี ประกอบกับส่วนราชการมีการนำเงินออกไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ส่วนสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจขนาดใหญ่ ด้านสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กลุ่มเกษตรกรและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

30 ธันวาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทรศัพท์ 074272000 ต่อ 4712

E-mail : RegionalEconSouth1@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ