แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 31, 2017 17:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2560

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2559 หลายดัชนีชี้วัดปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งใช้จ่ายในงบลงทุน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้นจากที่หดตัว และภาคการส่งออกขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปเมียนมาในกลุ่มของน้ำตาลทรายและเครื่องดื่ม ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไปประเทศจีน และส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น ฮ่องกง และเยอรมนี อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายด้านการบริโภคภาคเอกชนทั้งในหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังทรงตัว และในหมวดสินค้าคงทนกลับลดลง นอกจากนี้ ผลผลิตเกษตรที่สำคัญคือ อ้อยและผลของการเลื่อนเวลาเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ในส่วนของสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น ด้านการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมยังซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์แม้ผู้ประกอบการในบางกิจการมีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด ด้านยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อหดตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 โดยเม็ดเงินกระจายตัวดีทั้งในภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จากการเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานระบบถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมถึงการซ่อมสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์จากมาตรการโครงการลงทุนขนาดเล็ก ขณะที่โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากมีความคืบหน้ามากขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อน นักท่องเที่ยวชาวไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปี โดยเฉพาะในหัวเมืองจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ยังเข้ามาต่อเนื่อง รวมถึงนักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐอเมริกามีจำนวนสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นจากเครื่องชี้ท่องเที่ยว ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และเที่ยวบินตรงสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวมถึงอัตราการเข้าพักของที่พักแรมล้วนปรับตัวดีขึ้น

มูลค่าการส่งออก กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากการค้าชายแดนในสินค้าประเภทน้ำตาลทรายและเครื่องดื่มที่ส่งออกไปเมียนมา การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราไปทางตอนใต้ของประเทศจีน รวมทั้งการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น ฮ่องกง และเยอรมนีขยายตัวดี ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 30.9 เนื่องจากมีการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากลาว เฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้จากเมียนมา รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตและการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มดีขึ้น

ขณะที่การใช้จ่ายในด้านการบริโภคภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนสำคัญลดลงในสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ซึ่งมีฐานสูงในปีก่อน รวมถึงปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในภาคเกษตรและรายได้ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว สินเชื่อจากสถาบันการเงินเข้มงวดและหนี้ภาคครัวเรือนยังสูงอยู่ มาตรการลดหย่อนภาษีช่วงปลายปีเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออาจให้ผลเพียงในวงจำกัด ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากนัก นอกจากนี้ การเลื่อนการจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่ออกไปก็มีส่วนต่อภาพรวมการใช้จ่ายภาคเอกชนด้วย

รายได้เกษตรกรหดตัวมากกว่าเดือนก่อนร้อยละ 3.3 ผลผลิตสินค้าเกษตร กลับมาหดตัวร้อยละ 4.7 ส่วนสำคัญคือผลผลิตอ้อยโรงงานลดลงจากภาวะแห้งแล้งในช่วงเพาะปลูก จนเกษตรกรต้องเลื่อนการตัดอ้อยออกไปและโรงงานน้ำตาลบางแห่งต้องเลื่อนเวลาการเปิดหีบอ้อยไปด้วย แต่คาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากราคาอ้อยเป็นสำคัญ รวมถึงราคาปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังหดตัวน้อยลง

ผลผลิตอุตสาหกรรมกลับมาลดลงในเดือนนี้ร้อยละ 5.3 โดยส่วนสำคัญ ได้แก่ ผลผลิตน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลบางแห่งเลื่อนเวลาการเปิดหีบอ้อยออกไป และการผลิตเครื่องดื่มลดลงภายหลังได้เร่งผลิตไปมากในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผักแช่แข็งและการสีข้าวยังเพิ่มขึ้น การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนนี้ โดยเฉพาะเครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า แผ่นดิสก์แก้วในฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายรูปและกล้องในรถยนต์ จากอุปสงค์ต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.5 โดยภาคการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา สอดคล้องกับสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังลดลง เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ยอดขายวัสดุก่อสร้าง และปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การลงทุนในภาคการผลิตมีทิศทางดีขึ้นบ้าง จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มดีขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28 จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคาอาหารสดประเภทไข่ไก่ ผัก และผลไม้ อัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำและปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินฝาก 637,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ส่วนหนึ่งจากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อชดเชยส่วนที่ครบกำหนดและเงินฝากของส่วนราชการ ด้านยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 584,528 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ส่วนสำคัญจากการหดตัวในสินเชื่อธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และขนส่ง ขณะที่สินเชื่อค้าปลีกค้าส่ง เกษตรกรรม และสินเชื่ออุปโภคส่วนบุคคลขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรม ก่อสร้างและสุขภาพขยายตัวดี ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 91.6 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

31 มกราคม 2560

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ