ผลการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2012 20:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ณ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554

2. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอแผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS : Greater Mekong Subregion และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการโดยประสานกับ สศช. ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า

1. การประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 : ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่อาวุโส และภาคเอกชนจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 ผู้นำประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ (Joint Summit Declaration) และกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ ระยะ 10 ปี ระหว่างปี 2555-2565 ซึ่งเป็นสาระหลักของแถลงการณ์ร่วมฯ โดยกรอบยุทธศาสตร์ฯ มุ่งเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการ

1.2 ผู้นำร่วมเป็นสักขีพยานงานฉลองความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 1 และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระยะต่อไปของความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่

(1) แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการปรับปรุงศักยภาพในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศ GMS

(2) แผนสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการส่งเสริมความปลอดภัยของอาหาร และการพัฒนาระบบการค้าสินค้าเกษตรให้ทันสมัย

(3) ผลการทบทวนกลางรอบของยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเน้นการพัฒนาเพื่อเป้าหมายการท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางเดียว

1.3 ผู้นำร่วมเป็นสักขีพยานการส่งมอบตำแหน่งประธานสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Business Forum : GMS-BF) จากประเทศจีน เป็นเมียนมาร์ และรับข้อเสนอของภาคเอกชนโดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสพิจารณาแนวทางการร่วมมือกับภาคเอกชน

1.4 ผลการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4

(1) ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้ร่วมหารือแนวทางการสนับสนุนของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อผลักดันการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ฉบับใหม่ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลัก

(2) ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี

1) ยืนยันการสนับสนุนแผนงาน GMS อย่างต่อเนื่อง

2) พร้อมสนับสนุนด้านการเงินและด้านวิชาการแก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

3) ผลักดันให้สถาบันวิจัยต่าง ๆ เข้ามาร่วมทำงานเพื่อสนับสนุนแผนงาน GMS

4) พร้อมสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค

5) เสนอแนวทางการเปลี่ยนวิกฤติการณ์ภัยพิบัติที่หลายประเทศสมาชิกได้ประสบร่วมกัน

6) ผลักดันให้ประเทศสมาชิกบรรจุเรื่องแนวระเบียงเศรษฐกิจและแผนการลงทุนไว้ในวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา

7) ขอให้รัฐบาลประเทศสมาชิก และ ADB ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ GMS-BF อย่างต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ควบคู่กับการสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาศักยภาพให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

8) ให้ความสนใจที่ประเทศไทยจะรับเป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานของอนุภูมิภาคเพื่อประสานการทำงานในเรื่องรถไฟและพลังงาน

(3) เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 5 ในปี 2557

2. การลงนามเอกสารสำคัญ 3 เรื่อง : ในระหว่างการประชุมผู้นำจาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้ร่วมเป็น สักขีพยานการลงนามเอกสารสำคัญ 3 เรื่อง ในด้านโทรคมนาคม สาธารณสุข และความร่วมมือของภาคเอกชน ดังนี้

2.1 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2

2.2 บันทึกความเข้าใจสำหรับการดำเนินงานร่วมกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีการเคลื่อนย้ายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ

2.3 การจัดตั้งสมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน :

3.1 กระทรวงคมนาคมและสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแผนการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงเร่งผลักดันการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ให้เป็นรูปธรรม

3.2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์รายสาขา และดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจที่ได้ลงนามในระหว่างการประชุดสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 4

3.3 สศช. ประสานทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันลุ่มแม่น้ำโขง สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ ADB ร่วมกำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพบุคลากรในอนุภูมิภาค

3.4 สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผลักดันการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มการมีส่วนร่วมของจังหวัด ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและพื้นที่ชายแดน โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและภาคีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3.5 สศช. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพในปี 2557

3.6 สภาธุรกิจ GMS-BF ประเทศไทย เร่งศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ