รายงานความก้าวหน้าการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2013 16:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ Waseda University International e-Government Ranking 2013 โดยการจัดอันดับของ Waseda University ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของรายงานการจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากลของ Waseda University International e-Government Ranking 2013 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์คือ การทำให้เกิดการเชื่อมโยงในหน่วยงานภาครัฐเพื่อประชาชน (Connected Government for the People) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในอันดับที่ 20 จาก 55 ประเทศทั่วโลกเป็นการขยับสูงขึ้น 3 อันดับ จากปี พ.ศ. 2555 ที่อยู่ในอันดับ 23 จาก 55 ประเทศ โดยอยู่ในลำดับที่ 2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ และอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 20 ประเทศของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จากรายงานดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความพยายามในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งทำให้เห็นถึงจุดแข็งที่จะต้องส่งเสริมและจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไขและปรับปรุงต่อไป

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ดังจะเห็นได้จากได้มีการกล่าวถึงในแผนระดับชาติ เช่น แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (พ.ศ.2552-2556) หรือแม้กระทั่งได้มีการระบุไว้ใน กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ.2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ซึ่งถือเป็นกรอบนโยบายในระยะยาว ที่แสดงถึงเป้าหมายของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ปัจจุบันหน่วยงานระดับสากลมีบทบาทในการผลักดันการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จาก องค์การสหประชาชาติ มีการจัดทำ “United Nations e-Government Readiness” และ สถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการจัดทำ “Waseda University International e-Government Ranking” เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้กำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในมุมมองต่างๆ ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีทิศทางในการดำเนินงานเพื่อยกระดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ผลักดันงานต่าง ๆ เพื่อสร้างให้เกิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้

(1) การศึกษา วิจัย พัฒนา และเสนอแนะแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการศึกษากรอบแนวคิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากล อาทิ การ์ทเนอร์ (Gartner) สถาบันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น และองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น พบว่า แนวโน้มการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในระดับสากลนั้นได้ให้ความสำคัญกับหลักการ Open Government ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ความโปร่งใส (Transparency) 2) ความร่วมมือ (Collaboration) และ 3) การมีส่วนร่วม (Participation) ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นว่าประเทศไทยควรมีการกำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย (Thailand e-Government Readiness Framework) เพื่อประโยชน์ในการวางแผน การกำหนดนโยบาย ตลอดจนการดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ นอกจากนั้นแล้วหน่วยงานต่างๆ จะได้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง และนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา และยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย

(2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับประเทศไทย เช่น โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) และ โครงการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service: G-Cloud) เป็นต้น

(3) การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ เช่น หลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Executive Program) และหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยที่สำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่การเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐโดยยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง (e-Government for the People) และก้าวไปสู่การเป็น SMART Thailand

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 เมษายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ