แผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558

ข่าวการเมือง Tuesday February 24, 2015 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า ได้ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (10 ก.พ. 58)ดังนี้

1. สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่ ที่คาดว่าหากประสบภัยแล้งแล้วจะส่งผลให้เกิดความเสียหายด้านเกษตร พืชสวน พืชไร่ (ยกเว้นนาข้าว) ในห้วงเวลา พื้นที่จำนวนเท่าใดบ้าง และให้กำหนดแผนปฏิบัติการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เช่น การบริหารน้ำในระบบชลประทาน การประสานช่วงเวลาการทำฝนหลวง การกำหนดจุดสูบน้ำที่มีศักยภาพการขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำจากส่วนกลาง การขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น รวมถึงการนำน้ำไปจ่ายในจุที่ขาดแคลนน้ำ โดยจะดำเนินการจัดลำดับความเร่วด่วนของพื้นที่ที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรง เพื่อดำเนินการสนับสนุนความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็น

2. การจัดทำแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558 เน้นการดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การป้องกันและลดผลกระทบการเตรียมพร้อมรับภัย การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการจัดการหลังการเกิดภัย โดยแนวทางแผนบูรณาการดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 การป้องกันและลดผลกระทบ เน้นมาตรการในเรื่องระบบเฝ้าระวังและคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนทราบโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก จำนวน 31 จังหวัด มอบหมายกรมอุตุนิยมวิทยาสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันสานสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลัก และมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประสัมพันธ์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานแจ้งเตือน และสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ

2.2 การเตรียมพร้อมรับภัย เน้นมาตรการในเรื่องการเตรียมพร้อม สำหรับการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยให้ความสำคัญเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก และมอบหมายหน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยทหาร เป็นหน่วยรับผิดชอบ รวมทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูแล้ง

2.3 การจัดการในภาวะฉุกเฉิน โดยเน้นการดำเนินการตามมาตรการ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับส่วนกลาง และการณรงค์ประชาสัมพันธ์

2.4 การจัดการหลังการเกิดภัย โดยเน้นการดำเนินการตามมาตรการในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้เกิดความทั่วถึงให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องเงินชดเชยตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจ้างแรงงาน การส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมาย กษ. มท. กระทรวงแรงงาน (รง.) จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับผิดชอบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ