ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับค่าครองชีพ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558)

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2015 18:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับค่าครองชีพ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับค่าครองชีพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และสะท้อนปัญหา และผลกระทบที่ได้รับจากภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน ข้อมูลที่ได้จะสะท้อนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผน และกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยทำการสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ซึ่งมีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 5,800 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 7–9 กุมภาพันธ์ 2558 สาระสำคัญได้ดังนี้

1. ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ในภาวะที่น้ำมันมีราคาลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 52.0 มีรายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย มีเพียงร้อยละ 12.3 เท่านั้น ที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ขณะที่มีครัวเรือนประมาณ 1 ใน 3 ที่มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 35.7) ซึ่งในจำนวนนี้มีวิธีแก้ปัญหารายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย โดยการกู้หรือยืมเงินทั้งเสียดอกเบี้ยและไม่เสียดอกเบี้ยมากกว่าวิธีอื่น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 41.3) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น

2. เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคโดยภาพรวม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากราคาน้ำมันลดลงค่อนข้างมาก เทียบกับช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสินค้ามีราคาเท่าเดิม ร้อยละ 59.8 มีเพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้นที่เห็นว่ามีราคาถูกลง ส่วนผู้ที่เห็นว่าสินค้าราคาแพงขึ้นมีร้อยละ 32.6 ซึ่งในจำนวนนี้มีการตัดสินใจในการซื้อสินค้า โดยการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ซื้อเท่าที่จำเป็นมากกว่าวิธีอื่น โดยประชาชนในกรุงเทพมหานคร เห็นว่าสินค้าอุปโภค-บริโภคโดยภาพรวมมีราคาแพงขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 49.1) รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง (ร้อยละ 36.7) และภาคใต้ (ร้อยละ 36.6) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีร้อยละ 24.0 และ 22.6 ตามลำดับ

3. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่น้ำมันมีราคาลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าสินค้าต่างๆ ยังมีราคาเท่าเดิมไม่แตกต่างจากช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง ส่วนผู้ที่เห็นว่าสินค้ามีราคาถูกลงมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ที่เห็นว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้น โดยสินค้าที่ประชาชนเห็นว่ามีราคาแพงขึ้น 3 อันดับแรก คือ ผลไม้ (ร้อยละ 41.9) อาหารทะเล (ร้อยละ 39.8) และอาหารตามสั่ง (ร้อยละ 38.4) ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น 3 อันดับแรก ระบุว่าได้รับผลกระทบ ดังนี้

3.1 ผลไม้ ประชาชนที่เห็นว่าผลไม้มีราคาแพงขึ้น (ร้อยละ 41.9) ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดร้อยละ 15.8 ปานกลางร้อยละ 17.7 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 7.5 มีเพียงร้อยละ 0.9 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

3.2 อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอย ฯลฯ ประชาชนที่เห็นว่าอาหารทะเลมีราคาแพงขึ้น (ร้อยละ 39.8) ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดร้อยละ 12.8 ปานกลางร้อยละ 16.4 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 9.4 มีเพียงร้อยละ 1.2 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

3.3 อาหารตามสั่ง ประชาชนที่เห็นว่าอาหารตามสั่งมีราคาแพงขึ้น (ร้อยละ 38.4) ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดร้อยละ 16.7 ปานกลางร้อยละ 14.9 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 6.2 มีเพียงร้อยละ 0.6 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

4. สินค้าที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลควบคุมราคาอย่างเร่งด่วน 5 เรื่องแรก คือ เนื้อหมู (ร้อยละ 43.6) ข้าวสาร (ร้อยละ 43.1) น้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ฯลฯ (ร้อยละ 22.0) อาหารตามสั่ง (ร้อยละ 20.6) และปุ๋ยเคมี (ร้อยละ 19.6) ขณะที่สินค้าอื่น มีไม่เกินร้อยละ 16 เช่น ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป (ใส่ถุง) อาหารทะเล เป็นต้น

โดยประชาชนเกือบทุกภาคต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลควบคุมราคาข้าวสารมากกว่าสินค้าประเภทอื่น ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการให้ดูแลควบคุมราคาเนื้อหมูมากกว่าสินค้าประเภทอื่น

5. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่น้ำมันมีราคาลดลง ประชาชนมากกว่าครึ่งระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางในชีวิตประจำวันเท่าเดิมไม่แตกต่างจากช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง (ร้อยละ 61.4) และมีประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่าค่าใช้จ่ายลดลงกว่าเดิม (ร้อยละ 35.8) มีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางในปัจจุบันของประชาชนในทุกภาคส่วนใหญ่เท่าเดิม ไม่แตกต่างจากช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง ทั้งนี้ผู้ที่เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งพบได้ในทุกภาค

6. การให้บริการรถโดยสารประจำทาง ไม่ปรับอากาศฟรี เป็นมาตรการที่ภาครัฐให้ ขสมก. จัดรถโดยสารประจำทางธรรมดา หรือรถร้อน เพื่อให้บริการประชาชนฟรีในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เมื่อสอบถามประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยใช้บริการดังกล่าวเลย (ร้อยละ 89.1) มีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่ใช้บริการ โดยผู้ที่ใช้บริการระบุว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 204 บาทต่อเดือนโดยประชาชนในกรุงเทพมหานคร และภาคกลางใช้บริการรถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศฟรีสูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 49.0 และ 10.2 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีน้อยกว่าร้อยละ 3

7. ประชาชนร้อยละ 97.7 ระบุว่าพึงพอใจต่อมาตรการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ไม่ปรับอากาศฟรีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โดยในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดร้อยละ 58.2 ปานกลางร้อยละ 34.3 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 5.2) ส่วนผู้ที่ไม่พึงพอใจเลยมีเล็กน้อย (ร้อยละ 2.3)

8. การให้บริการรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรี เป็นมาตรการที่ภาครัฐให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรีไว้บริการประชาชนทั่วประเทศ โดยเป็นขบวนรถชานเมือง รถธรรมดา และรถรวม เมื่อสอบถามประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยใช้บริการดังกล่าวเลย (ร้อยละ 94.4) มีเพียงร้อยละ 5.6 ที่ใช้บริการ โดยผู้ที่ใช้บริการระบุว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 251 บาทต่อเดือนโดยประชาชนในกรุงเทพมหานครใช้บริการรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรีสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 9.3) รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ (ร้อยละ 7.8) ภาคกลาง (ร้อยละ 5.1) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 5.1) ขณะที่ภาคเหนือมีน้อยกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 2.5)

9. ประชาชนร้อยละ 98.0 ระบุว่าพึงพอใจต่อมาตรการให้บริการรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรี ทั่วประเทศ (โดยในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดร้อยละ 59.5 ปานกลาง ร้อยละ 33.8 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 4.7) ส่วนผู้ที่ไม่พึงพอใจเลยมีเล็กน้อย (ร้อยละ 2.0)

10. ตามที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะกำหนดมาตรการให้บริการรถโดยสารประจำทาง (ขสมก.) ไม่ปรับอากาศฟรีในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งการให้บริการรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรี ทั่วประเทศ ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย เช่น นักเรียน/นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว (ร้อยละ 94.3) มีเพียงร้อยละ 5.7 ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่าควรให้บริการกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

11. ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน เช่น การลดราคาน้ำมัน การให้บริการรถโดยสารประจำทางหรือรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศฟรี การจำหน่ายสินค้าในงานธงฟ้าราคาประหยัด ฯลฯ ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 99.9 ระบุว่าพึงพอใจ (โดยในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดร้อยละ 74.2 ปานกลางร้อยละ 23.5 และน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 2.2) ส่วนผู้ที่ไม่พึงพอใจเลยมีเล็กน้อย (ร้อยละ 0.1) เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาค่าครองชีพอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 78.6) รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ (ร้อยละ 76.6) ภาคเหนือ (ร้อยละ 76.0) และภาคกลาง (ร้อยละ 70.8) ขณะที่กรุงเทพมหานครมีร้อยละ 68.7

12. ประชาชนได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน(กุมภาพันธ์ 2558) ที่สำคัญ ดังนี้ 1) รัฐบาลควรเข้ามาดูแล ควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจัง (ร้อยละ 80.9) 2) หน่วยงานภาครัฐควรจัดมหกรรมสินค้าราคาถูก เช่น ธงฟ้าราคาประหยัด ฯลฯ (ร้อยละ 40.0) 3) การใช้กฎหมายลงโทษกับพ่อค้า/แม่ค้าที่ขายสินค้าเกินราคา (ร้อยละ 36.3) 4) การควบคุมราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการเกษตรให้ถูกลง เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ (ร้อยละ 33.8) และ 5) ข้อเสนอแนะอื่น (ร้อยละ 1.7) เช่น การสนับสนุนให้บริโภคสินค้าเกษตรของไทย การปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 ในทุกภาคต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจังมากกว่าเรื่องอื่น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ