ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2015 15:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ยธ. เสนอว่า เพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมหรือเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างมีระบบและมาตรฐาน และเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของภาคเอกชนเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. กำหนดให้มีคำนิยามคำว่า “การให้บริการนิติวิทยาศาสตร์” “ข้อมูล” “สถาบัน” “คณะกรรมการ” และ “รัฐมนตรี”

3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

4. กำหนดให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีหน้าที่ในการให้บริการ และส่งเสริมงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยให้รวมถึงงานดังต่อไปนี้

(1) ช่วยเหลือและสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีอาญาตามที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายร้องขอ

(2) ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การอำนวยความยุติธรรม และการทะเบียนราษฎรตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร้องขอ

(3) ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันการกระทำความผิดในเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้ร้องขอ

(4) ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดร้องขอ

(5) ส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของภาคเอกชน

5. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และอัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการเก็บรักษา ทำลาย หรือการเปิดเผยข้อมูลซึ่งได้มาจากการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์

6. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 5 คนเป็นกรรมการ ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบันเป็นเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดมาตรฐานการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบัน

(2) กำหนดการเรียกเก็บ งด หรือลดค่าธรรมเนียมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบัน

(3) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเก็บรักษาและทำลายข้อมูล

(4) กำหนดวิธีการเปิดเผยข้อมูล

(5) กำหนดแนวทางในการส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ของภาคเอกชน

7. กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมายได้ และให้กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

8. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ภายในระยะเวลา 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ปฏิบัติงานไปตามมาตรฐานเดิมไปพลางก่อน และกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานหรือการให้บริการที่สถาบันได้ดำเนินการค้างอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ