ขออนุมัติหลักการยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558-2562

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2015 20:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558-2562 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณากำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ ให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ.รายงานว่า

1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 อนุมัติในหลักการยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2553-2557 ตามที่ กษ.เสนอ กษ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานโครงการต่างๆภายในยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2553-2557 มีผลการดำเนินงานเกี่ยวกับผลไม้เศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ได้แก่ เงาะ มังคุด ลองกอง ทุเรียน มะม่วง ลำไย สรุปได้ดังนี้

รายการ                                                    ปี 2553     ปี 2557
มูลค่าการส่งออกร่วม (ล้านบาท)                                  14,440     36,530
มูลค่าผลไม้เศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ตามราคาที่เกษตรกรขายได้ (ล้านบาท)    79,723    134,216
กำไรสุทธิเฉลี่ยที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้น (บาทต่อไร่)                     6,930     11,945

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาเป็นลำดับแรกและมีความต่อเนื่องในการดำเนินการต่อไป ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การพัฒนาตลาดในประเทศและตลาดส่งออกและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ

2. ขณะนี้สิ้นสุดระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ผลไม้ไทย พ.ศ. 2553-2557 แล้ว คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558-2562 และให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติหลักการ

3. (ร่าง) ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558-2562 มีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 หลักการสำคัญ

1) ให้ความสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจหลัก 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง

2) ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า

3) สนับสนุนให้กลไกตลาดผลไม้ภายในประเทศดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) ดำเนินงานตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area:FTA) และกฎระเบียบ มาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผลไม้ไทย

5) ดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิต การตลาด การบริหารจัดการองค์กรเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

3.2 วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

3.3 พันธกิจ

1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการลดต้นทุน การพัฒนาคุณภาพและขยายการผลิตนอกฤดู และการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างโอกาสการตลาดและเพิ่มรายได้จากการผลิต

2) เพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยพัฒนาและส่งเสริมการแปรรูปที่เน้นการต่อยอดผลงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม

3) ขยายตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกต่างประเทศ โดยพัฒนาตลาดกลางผลไม้สนับสนุนการกระจายสินค้าของภาคเอกชน การเชื่อมโยงการตลาด รวมทั้งให้ความสำคัญทั้งตลาดหลักเดิม ตลาดใหม่และตลาดเพื่อนบ้านชายแดนและการเจรจาแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก

4) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การบริโภคผลไม้ไทยทั้งในและต่างประเทศ

5) พัฒนาองค์กรและเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง

6) พัฒนาการรับรองคุณภาพสินค้าไม้ผลเมืองร้อน

7) จัดทำระบบฐานข้อมูลไม้ผลให้มีครบถ้วนในทุกด้าน ถูกต้อง ทันเหตุการณ์และเป็นเอกภาพ

3.4 วัตถุประสงค์

1) เพื่อให้มีกรอบทิศทางการพัฒนาผลผลิต การตลาด และการบริหารจัดการผลไม้อย่างเป็นระบบมีเอกภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาผลไม้ได้อย่างยั่งยืน

2) เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีความมั่นคงในอาชีพ รายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3) เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลไม้ไทยและขยายการส่งออกให้มากขึ้น

4) เพื่อให้มีฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้

3.5 เป้าหมายหรือเป้าประสงค์

1) สร้างเสถียรภาพราคาผลไม้ โดยค่าเฉลี่ยของราคาที่เกษตรกรขายได้จะไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้มูลค่าของผลไม้ตามราคาที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนให้แก่เกษตรกรเป้าหมายผู้ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจหลักไม่น้อยกว่า 7 ชนิด โดยมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 10,000 บาท/ไร่ ในปี 2558 เป็น 13,000 บาท/ไร่ ในปี 2562

2) เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

3) พัฒนาผลไม้คุณภาพที่ได้มาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

3.6 ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2562 ของแต่ละหน่วยงาน รวมวงเงินทั้งสิ้น 773.60 ล้านบาท

4. หน่วยงานร่วมดำเนินการขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย หน่วยงานสังกัด กษ. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) อก. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมโรงแรมแห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

5. แผนปฏิบัติการ

5.1 แผนระยะที่ 1 (ปี 2558-2560) มุ่งเน้นการจัดตั้งกลุ่ม สร้างเครือข่ายและส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ ในพื้นที่การผลิตตามเขตความเหมาะสม (Zoning) โดยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลผลิต รับรองมาตรฐานการผลิต GAP และ GMP และมาตรฐานสินค้าเกษตร ด้านไม้ผล เพื่อให้มีผลไม้คุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล

5.2 แผนระยะที่ 2 (ปี 2561-2562) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ในการขยายตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศและผลักดันการส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ และพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้การส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ