ร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...

ข่าวการเมือง Tuesday May 31, 2016 18:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดให้กรรมการ ก.ล.ต. และกรรมการกำกับตลาดทุนเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละคณะขึ้นใหม่

2. กำหนดให้บุคคลอื่นที่มิใช่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อาจยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่บางประเภทได้ ตลอดจนกำหนดให้บุคคลอื่นนั้นมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลและมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติภายหลังจากการได้รับอนุญาตเช่นเดียวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

3. กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มีมาตรฐานในการคุ้มครองผู้ลงทุนเช่นเดียวกับที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดอาจได้รับยกเว้นการปฏิบัติหรือปฏิบัติแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

4. กำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนและการโอนที่ใช้บังคับกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้มาใช้บังคับแก่การจัดทำทะเบียนและการโอนหลักทรัพย์อื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตามมาตรา 33 ด้วยโดยอนุโลม และให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดทำทะเบียนและการโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แตกต่างจากกรณีทั่วไป เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของหลักทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5. กำหนดให้อำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการออกประกาศเพื่อผ่อนผัน หรือยกเว้นการจัดทำหรือส่งข้อมูลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์บางกรณี

6. กำหนดให้กรรมการ ผู้จัดการ ผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร และผู้สอบบัญชีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ มีหน้าที่จัดทำและเปิดเผยรายงานการถือและการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของตน คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่บริษัทหลักทรัพย์เดียวกันนั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติและในหนังสือชี้ชวน และได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

7. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่ 1 การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ของหมวด 8 การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ โดยกำหนดห้ามมิให้กระทำการที่มีลักษณะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และกำหนดบทสันนิษฐานในกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

8. กำหนดให้พยานหลักฐานที่ได้มาตามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างประเทศกับสำนักงาน ก.ล.ต. ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีทั้งปวงได้และกำหนดให้พนักงานสอบสวนอาจนำข้อมูล ข้อเท็จจริง เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต.ส่งมอบในการกล่าวโทษผู้กระทำความผิด มาเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีอาญาได้

9. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางอาญา เพื่อให้มีความเหมาะสมและรองรับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ตามที่กำหนดขึ้นใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่าง ๆ ที่กำหนดบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้บริหารนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

10. กำหนดเพิ่มหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งเพื่อนำมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ในบางกรณี

11. กำหนดให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ใช้บังคับ เป็นบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามมาตรา 33 โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์พระราชบัญญัติดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 พฤษภาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ