อนุมัติโครงการศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยและงบประมาณสนับสนุน

ข่าวการเมือง Tuesday January 16, 2018 18:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สภากาชาดไทยเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติโครงการศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในส่วนของการก่อสร้างอาคารตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2565 ภายใต้กรอบวงเงิน 2,415,000,000 บาท โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณจำนวน 1,932,000,000 บาท และเงินนอกงบประมาณสมทบ จำนวน 483,000,000 บาท สำหรับในส่วนของงบประมาณค่าครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จำนวน 600,000,000 บาท และงบประมาณบุคลากร จำนวน 200,000,000 บาท นั้นให้สภากาชาดไทยกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 รายการดังกล่าวให้ครบถ้วน และจัดทำแผนปฎิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความพร้อมความจำเป็นและเหมาะสมที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีงบประมาณต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

2. ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เตรียมการดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างศูนย์บูรณาการบริการดังกล่าว เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด ความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง ปัญหาการอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ป่วย เป็นต้น

สาระสำคัญของเรื่อง

สภากาชาดไทย รายงานว่า

1. ในปัจจุบันประชาคมโลกเริ่มเข้าสู่ประชาคมผู้สูงอายุซึ่งมีปัญหาภาวะโรคจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วย NCDs ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดำรงชีวิตและปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งของผู้ป่วย สังคม และประเทศชาติ

2. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์และเป็นโรงพยาบาลระดับเหนือตติยภูมิ ซึ่งได้กำหนดแผนกลยุทธ์ให้สามารถบรรลุพันธกิจในการให้บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิและเหนือตติยภูมิเพื่อตอบสนองให้ทันกับสังคมผู้สูงอายุและเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดด โดยได้จัดทำแผนด้านการลงทุนทางกายภาพที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลและประเทศ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลฯ มีการให้บริการผู้ป่วยนอก (Out-Patient-Department: OPD) ณ อาคาร ภปร. ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และใช้งานต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 30 ปี มีทั้งผู้ป่วยที่มารับบริการเองและผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่อมาจากสถานพยาบาลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ 2.1 ความจำเป็นด้านกายภาพ 2.2 ความจำเป็นด้านพัฒนางานบริการ 2.3 ความจำเป็นด้านพัฒนางานวิชาการ และ 2.4 ความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์

3. โครงการศูนย์บูรณาการ ฯ เป็นการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกส่วนขยายที่เพิ่มพื้นที่และความเชื่อมโยงการให้บริการผู้ป่วยนอกกับอาคารผู้ป่วยนอกเดิม (อาคาร ภปร.) ที่ไม่สามารถรองรับการให้บริการประชาชนได้เพียงพอในปัจจุบัน โดยวางแผนจัดรูปแบบบริการใหม่ เป็นการปฏิรูประบบการบริการผู้ป่วยนอก (Transformative Ambulatory Care) เพิ่มมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านวิชาการและการวิจัยซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพสูงสุด รองรับสังคมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีความคุ้มค่าและยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ