แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประกาศแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในแถลงการณ์ดังกล่าว ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ก่อนดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยในการประชุมดังกล่าว ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันประกาศแถลงการณ์ในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันเจตนารมณ์ของอาเซียนต่อการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในขณะนี้

กระทรวงพาณิชย์สรุปสาระสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเด็นหลัก ดังนี้

(1) ความร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนในอาเซียน

(1.1) ส่งเสริมให้มีการติดตามภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อให้มีระบบเตือนภัยความเสี่ยงและ ความผันผวนทางการเงินในภูมิภาค

(1.2) เสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ Chiang-Mai Initiative Multilateralisation (CMIMM) , Asian Bond Markets Initiative (ABMI) และ Credit Guarantee Investment Facility (CGIF) รวมถึงการพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังของอาเซียน

(1.3) มีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎระเบียบด้านการเงิน โครงสร้าง และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสมดุลของโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศ

(1.4) ให้การสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อภาวะตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นให้มีการทบทวนนโยบายการเงินและการคลังเพื่อให้เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

(2) การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน

(2.1) เร่งสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ภายในปี 2558

(2.2) ยึดมั่นการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

(2.3) มุ่งดำเนินการตามความตกลงต่างๆ ที่ได้ลงนามไว้กับประเทศคู่เจรจา โดยผลักดันให้มีความร่วมมือและการหารือกับประเทศคู่เจรจา เพื่อหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายของความตกลงร่วมกัน

(2.4) หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน เพื่อคงไว้ซึ่งการเปิดเสรีการค้าตามนโยบายขององค์การการค้าโลก

(2.5) สนับสนุนแถลงการณ์ของผู้นำ G-20 (The G-20 Leaders’ statement) ในการประชุมสุดยอดที่เมืองพิสเบิร์ก เมื่อเดือนกันยายน 2552 และปฏิญญาผู้นำเอเปค (APEC Leaders’ Declaration) ที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเฉพาะในเรื่องความสำคัญของการสรุปผลการเจรจารอบโดฮา การต่อต้านการใช้มาตรการป้องกัน และการจัดทำแผนเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน

(3) การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

(3.1) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค

(3.2) ให้จัดทำแผนแม่บทเรื่องการเชื่อมโยงกันของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) และสนับสนุนให้ประเทศคู่เจรจาที่สนใจให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

(3.3) สนับสนุนให้มีการจัดสรรเงินให้กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จำเป็นต่อภูมิภาค โดยดำเนินการภายใต้กลไกการกู้ยืมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Infrastructure Financing Mechanism : AIFM) และขอให้ประเทศสมาชิกศึกษาเครื่องมือทางการเงินและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค

(3.4) มอบหมายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียนรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศอาเซียน และรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค

(3.5) ให้สรุปผลและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Strategic Transport Plan : ASTP) และแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN ICT Master Plan) ในช่วงปี 2554-2558 รวมทั้งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation : APAEC) ในช่วงปี 2553-2558 เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค

(3.6) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค อาทิ เขตเศรษฐกิจอาเซียนตะวันออก บรูไนฯ — อินโดนีเซีย - มาเลเซีย — ฟิลิปปินส์ (Brunei — Indonesia — Malaysia — Philippines East ASEAN Growth Area : BIMP- EAGA) เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMTGT) และความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong-Sub-region:GMS) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการส่งเสริมการรวมกลุ่มในภูมิภาค

(4) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(4.1) สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สมดุลมากขึ้นและเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม และเพิ่มศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยใช้หลักธรรมาภิบาล นวัตกรรม และระบบเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(4.2) ร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อน บนพื้นฐานความรับผิดชอบที่แตกต่างกันตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ

(4.3) ขอให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถ และขอให้ทุกประเทศหลีกเลี่ยงการใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโลกมาสร้างเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศกำลังพัฒนา

(4.4) ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความหลากหลายและภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจ

(4.5)ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตบนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

(4.6) ร่วมกันแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางเศรษฐกิจและสังคมและความยากจนในภูมิภาคโดยจัดทำและดำเนินงานตามแผนงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Millennium Development Goal (MDG) และยืนยันเจตนารมณ์ในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการบรรลุเป้าหมาย MDG ในอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการประสานงานและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

(4.7) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันและความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนมีส่วนร่วมในความร่วมมือดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสมาชิกแต่ละประเทศและภูมิภาค

(5) การเสริมสร้างเครือข่ายระบบการประกันสังคม

(5.1) เสริมสร้างเครือข่ายระบบการประกันสังคมในภูมิภาค

(5.2) ให้มีการพัฒนาความคิดริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการยกระดับระบบการประกันสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงทางสังคม

(5.3) ให้คณะทำงานสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับระบบการประกันสังคม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและศึกษามาตรการประกันทางสังคมสำหรับกลุ่มเสี่ยง

(5.4) สำรวจสถานะการดำเนินงานของการประกันสังคมในอาเซียน เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน

(5.5) ให้ประเทศสมาชิกให้โอกาสในการจ้างงานที่เพียงพอแก่คนงาน รวมถึงความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน

(6) การสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษา

(6.1) ส่งเสริมบทบาทหลักของการศึกษาต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค

(6.2) จัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาคโดยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในประทศและในโลก

(7) การส่งเสริมการหารือร่วมกับภาคเอกชน

(7.1) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานไปสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน

(7.2) สนับสนุนและพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคและในโลกได้มากขึ้น รวมถึงได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มของอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างของการพัฒนาและเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ

(7.3) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน เพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

(8) การลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน

(8.1) ให้ความสำคัญกับโครงการความคิดริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI) เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศสมาชิก

(8.2) ขอให้คณะทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน IAI ระยะที่ 2 และขอให้สมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่สมาชิกอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ