ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมอื่นๆ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 14:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ตามที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2553 ณ กรุงฮานอย โดยในด้านเศรษฐกิจได้มีการประชุมในกรอบรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนด้วย โดยมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. การประชุมในกรอบอาเซียน

1.1 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประเด็นการมีผลบังคับใช้ของความตกลงด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ได้แก่

1.1.1 ASEAN Trade In Goods Agreement (ATIGA) รัฐมนตรีเศรษฐกิจไทยและฟิลิปปินส์ได้ลงนามใน MOU เรื่องข้าว เมื่อวันที่ 8 เมษยน 2553 ทำให้ไทยสามารถดำเนินการภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบัน ATIGA ได้ ภายในเดือนพฤษภาคม 2553

1.1.2 Vietnam’s Petroleum Products เวียดนามอยู่ระหว่างปรับปรุงตารางการลดภาษีสินค้าปิโตรเลียมที่เดิมอยู่ในรายการยกเว้นทั่วไป (General Exclusion List : GE) ซึ่งจะต้องเริ่มลดภาษีในปี 2554 โดยเวียดนามจะเสนอตารางการลดภาษีดังกล่าวให้ที่ประชุม AEM ครั้งที่ 42 ในเดือนสิงหาคม 2553 ให้การรับรองต่อไป

1.1.3 ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) อินโดนีเซียยืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อผูกพันในการปรับปรุงรายการข้อสงวนด้านการลงทุนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้

1.1.4 AEM Road Show อาเซียน 8 ประเทศตกลงจะเข้าร่วม Road Show โดยมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 5 ประเทศ (มาเลเซีย บรูไน ลาว อินโดนีเซีย ไทย) รัฐมนตรีช่วยว่าการของเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนสิงคโปร์จะส่งเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตันดีซีร่วมเดินทางไปจัด AEM Road Show ณ เมือง Seattle และ Washington DC

1.2 การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council)

1.2.1 ความคืบหน้าในการดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ในปี 2551-2552 ประเทศสมาชิกดำเนินการตามเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72.38 เป็นร้อยละ 75.5 (83 มาตรการจาก 110) ซึ่งที่ประชุมขอให้ประเทศสมาชิกเร่งรัดการดำเนินการมาตรการที่เหลือให้ได้มากที่สุดภายในการประชุมคณะมนตรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งต่อไป

1.2.2 ASEAN Single Window (ASW) : ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ เริ่มใช้ National Single Window แล้ว โดยในส่วนของไทยได้ดำเนินการเชื่อมโยง 4 หน่วยงานจาก 17 หน่วยงาน ทั้งนี้ สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะร่วมลงนาม MOU ASW Pilot Project ในเดือนมิถุนายนศกนี้ที่ประเทศไทย

1.2.3 การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยงอาเซียน : คณะทำงานระดับสูงของอาเซียนอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียนตามที่ผู้นำได้มอบหมายไว้ในแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนในปี 2552 ซึ่งจะประกอบด้วย การเชื่อมโยงอาเซียนทั้งทางกายภาพ สถาบัน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และจะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าแผนแม่บทดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

1.2.4 AEC Communications Plan : ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ขอให้สำนักเลขาธิการ อาเซียนจัดทำข้อมูลมาตรฐานที่สามารถนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะและแปลเป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน ในการนี้ ไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าไทยได้ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ต่าง ๆ ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเน้นย้ำความสำคัญของการริเริ่มโครงการ AEC Plus Youth Network ที่ไทยเสนอในการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรก ในปี 2552

1.2.5 การรายงานขององค์กรสาขาต่าง ๆ (Sectoral Bodies) ภายใต้เสาหลักเศรษฐกิจ : ที่ประชุมเห็นชอบให้องค์กรสาขาต่างๆ เช่น สาขาการขนส่งโทรคมนาคม เกษตรและป่าไม้ พลังงาน เป็นต้น รายงานผลการดำเนินงานโดยตรงต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในการประชุมแต่ละครั้งจะกำหนดหัวข้อที่มีความสำคัญที่จะหารือกันล่วงหน้า

1.2.6 การโอนย้ายกรอบการประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากเสาหลักเศรษฐกิจไปสู่เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม : ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการโอนย้ายฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับเสาหลักเศรษฐกิจมากกว่า

2. การหารือทวิภาคีของรัฐมนตรีช่วยว่ากากระทรวงพาณิชย์ ในช่วงการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้า 2 ประเทศ คือมาเลเซียและลาว โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ไทย — มาเลเซีย

2.1.1 การพิจารณาปรับเพิ่มโควตาการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนไทยผ่านมาเลเซียไปสิงคโปร์ ฝ่ายมาเลเซียแจ้งว่ารัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการแลคาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในการหารือทวิภาคีของผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งต่อไป

2.1.2 ปัญหาสินค้าน้ำตาลที่ภาคเอกชนไทยร้องเรียนว่ามาเลเซียประกาศรายชื่อประเทศที่มีสิทธิประมูลการนำเข้าน้ำตาลโดยไม่มีไทยรวมอยู่ด้วยนั้น ฝ่ายมาเลเซียแจ้งว่าจะจัดให้ภาคเอกชนไทยหารือประเด็นปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาครัฐของมาเลเซียโดยด่วน

2.1.3 ไทยได้แจ้งเลื่อนกำหนดการนำคณะนักธุรกิจไทยจากจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส และยะลาไปจัดงาน “โลจิสติกส์การค้าสัญจร” ซึ่งเดิมกำหนดจัดในวันที่ 8-11เมษายน 2553 เป็นปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้

2.2 ไทย-ลาว

2.2.1 คณะรัฐมนตรีไทยได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่องแล้วได้แก่ (1) การสร้างติดตั้งไฟฟ้าจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวจนถึงนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบ 450 ปี ของนครหลวงเวียงจันทน์ และ (2) การสร้างทางรถไฟจากท่านาแล้งถึงเวียงจันทน์เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-ลาว 60 ปี

2.2.2 การประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาว ซึ่งลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองหลวงพระบางในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ ไทยแจ้งว่ายินดีที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ไทยมีกำหนดจะจัดงานแสดงสินค้า Thailand Exhibition ที่นครเวียงจันทน์ในปีนี้ด้วย

2.2.3 ไทยยังได้ยกประเด็นเรื่องการยกระดับด่านภูดู่จังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นด่านถาวรเพื่อลดเวลาการขนส่ง ในขณะที่ฝ่ายลาวได้ยกประเด็นปัญหาการนำเข้าข้าวโพดภายใต้โครงการ Contract Farming และปัญหาการขนส่งสินค้าข้ามแดน

3. การลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจ บันทึกความเข้าใจเรื่องข้าวระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ สาระสำคัญคือ ฟิลิปปินส์จะซื้อข้าวจากไทยปีละ 367,000 ตัน ซึ่งรวมถึงการพิจารณานำเข้าข้าวคุณภาพดีจากไทยเป็นลำดับแรกจำนวน 50,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่า

4.1 สมาชิกอาเซียนควรเร่งรัดให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของอาเซียนในเวทีโลกและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้มากขึ้น

4.2 การที่ไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องข้าวระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์และเร่งดำเนินการภายในเพื่อให้สามารถให้สัตยาบันได้ภายในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศโดยสมบูรณ์และจะเป็นประโยชน์ต่อเอกชนในการขยายการค้าในตลาดอาเซียนได้มากขึ้น

4.3 ในส่วนของประเทศไทยยังมีหลายมาตรการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งรัดให้หน่วงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้ทันตามกำหนดเวลา เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ