เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญเดิมกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตราที่ 246-248

ข่าวการเมือง Wednesday July 11, 2007 14:22 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดิม)
ส่วนที่ ๒ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ
๑. องค์กรอัยการ
- มาตรา ๒๔๖ พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดย
เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการอัยการ
และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการ
สูงสุด องค์กรอัยการมีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการ
ดำเนินการอื่น โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติพนักงานอัยการต้องห้ามมิให้ดำรง
ตำแหน่งหรือกระทำกิจการใด ๆ เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในเรื่องวินัยหรือลักษณะต้องห้ามของผู้พิพากษาหรือ
ตุลาการ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๔ วรรคแปดและวรรคเก้า และมาตรา ๑๙๘ มาใช้บังคับโดย
อนุโลม
๒. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มาตรา ๒๔๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง
และกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือ
ประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึง
การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนอง
พระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม
การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๐ วรรคสาม มาตรา ๒๐๒ มาตรา ๒๐๓
และมาตรา ๒๐๕ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลมเว้นแต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามมาตรา
๒๓๖
- มาตรา ๒๔๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจสอบ
และรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณี
ระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล
หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ
ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป (๒) เสนอเรื่อง
พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อ
สิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง
ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (๔) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุง
กฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (๕) ส่งเสริมการศึกษา
การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน (๖) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสาน
งานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน (๗) จัดทำรายงานประจำปี
เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา (๘) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมาย
บัญญัติในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและ
ประชาชนประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจาก
บุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมาย
บัญญัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
- ส่วนที่ ๘
มาตรา ๑๙๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง
และกรรมการอื่นอีกสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือ
ประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึง
การมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วยให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนอง
พระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม
การสรรหา การเลือก การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
- มาตรา ๒๐๐ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ตรวจสอบ
และรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณี
ระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคล
หรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตาม
ที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป (๒) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย
กฎ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (๓) ส่งเสริมการศึกษา
การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน (๔) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วย
ราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน (๕) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมิน
สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา (๖) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน
ประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
จากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้
ตามที่กฎหมายบัญญัติ
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตราที่ 246
เพิ่มใหม่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของอัยการเป็นอิสระ มิใช่เป็นส่วน
ราชการของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการที่ต้องให้ความยุติธรรมอย่างเป็น
กลางและต้องดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยซึ่งจะต้องดำเนินการ
ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการให้มีความอิสระและเป็นกลางตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับ
ผู้พิพากษาและตุลาการต่อไป
เหตุผลที่แก้ไข
แก้ไขมาตราที่ 247
ลดจำนวนกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อให้มีจำนวนจำกัดซึ่งจะทำให้สามารถสรรหาบุคคลที่มีความ
เหมาะสมอย่างแท้จริงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงกับเจตนารมณ์และทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โดยใช้
ระบบการสรรหาเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ
แก้ไขมาตราที่ 248
เพิ่มอำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลได้โดยตรงในกรณี
ที่มีผู้ร้องว่ามีกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและเป็น
การขัดกฎหมาย เพื่อเป็นช่องทางในการคุ้มครองประชาชนเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
สามารถดำเนินคดีในศาลแทนประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ