ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ภาค ๒ หมวด ๓

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2015 14:45 —สภาร่างรัฐธรรมนูญ

หมวด ๓
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

มาตรา ๙๖ รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ พลเมืองจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้

มาตรา ๙๗ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน ในกรณีที่ไม่มีทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา หรือทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน ตามลำดับ

ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ

ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในทางการเมือง

รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย

มาตรา ๙๘ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

มาตรา ๙๙ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๑๖ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) หรือ (๑๒) หรือมาตรา ๑๒๘ (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภา ที่ได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง

มาตรา ๑๐๐ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดกระทำการหรือมีพฤติการณ์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติให้สมาชิก ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพได้

มติของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา

มาตรา ๑๐๑ การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อม ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งหรือได้รับเลือกมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทน อย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

มาตรา ๑๐๒ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎ หรือดำเนินการใดเพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือกฎหรือกระทำการดังกล่าวไม่ดำเนินการหรือไม่กระทำการภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือภายในเวลาอันสมควรในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ทำให้การปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่บังเกิดผล ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายหรือกฎหรือมีหน้าที่กระทำการนั้น ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายย่อมฟ้องรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้

ส่วนที่ ๒
สภาผู้แทนราษฎร
          มาตรา ๑๐๓ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสี่ร้อยห้าสิบคนแต่ไม่เกิน สี่ร้อยเจ็ดสิบคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสองร้อยห้าสิบคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยคนแต่ไม่เกินสองร้อยยี่สิบคน
          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละแบบแยกกันโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่น
          หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนผสมระหว่างแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง สี่ร้อยห้าสิบคน ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของจำนวนสี่ร้อยห้าสิบคน ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร  แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้มาในภายหลังนี้ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎร
          ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด อันทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
          ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงสองร้อยคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
          มาตรา ๑๐๔ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เขตละหนึ่งคน
          การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้คำนวณโดยการนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองร้อยห้าสิบคน
          การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณโดยการนำจำนวนราษฎร ต่อสมาชิกหนึ่งคนที่คำนวณได้ตามวรรคสอง มาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น  จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตามวรรคสอง ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน จังหวัดใด มีราษฎรเกินเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
          เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตามวรรคสามแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสองร้อยห้าสิบคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสามมากที่สุด ให้จังหวัดนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน  และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัด ที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสามในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยห้าสิบคน
          จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินหนึ่งคน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  และจังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวนเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีได้ในจังหวัดนั้น โดยจัดให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน  ในกรณีที่จังหวัดใดมีการแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งเขต ต้องแบ่งพื้นที่ของ เขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
          มาตรา ๑๐๕  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
          ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นเป็นจำนวนตามสัดส่วนนั้น โดยให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกซึ่งได้รับคะแนนมากที่สุดเรียงไปตามลำดับ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อตามบัญชีรายชื่อที่ได้มีการเรียงลำดับแล้วของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้น  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๐๖ การกำหนดเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  ให้จัดแบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็นหกภาค และให้แต่ละภาคเป็นเขตเลือกตั้ง
          การจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นภาค ในแต่ละภาคต้องจัดให้พื้นที่ของจังหวัดทั้งจังหวัดอยู่ในภาคเดียวกัน จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันอยู่ในภาคเดียวกัน และในทุกภาคต้องมีจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง โดยไม่จำต้องมีจำนวนใกล้เคียงกัน
          การจัดทำบัญชีรายชื่อ จำนวนรายชื่อที่ต้องมีในแต่ละบัญชี การยื่นบัญชีรายชื่อ และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๐๗ การคิดคำนวณเพื่อหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือ กลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
          (๑) ให้นำคะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองหรือทุกกลุ่มการเมืองได้รับ จากทุกภาค มารวมกันเพื่อคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคการเมืองหรือ กลุ่มการเมืองนั้นจะพึงมีได้ทั้งประเทศ
          (๒) ให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองได้รับเลือกตั้ง มาเทียบกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๑) เพื่อคำนวณให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นทั้งหมดตาม (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี
          (๓) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๑) มีจำนวนมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งแบบ แบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตรวมกัน ให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นจนเท่าจำนวนสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คำนวณได้ตาม (๑)
          (๔) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๑) มีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขตรวมกัน ให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉพาะที่ได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
          (๕) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่คำนวณได้ตาม (๓) รวมกันมากกว่า สองร้อยยี่สิบคน ให้ปรับลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองหรือ กลุ่มการเมืองลงตามสัดส่วนให้รวมกันเป็นสองร้อยยี่สิบคน
          การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตาม (๓) ให้กับบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ในแต่ละภาค ให้คำนวณโดยเฉลี่ยสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ได้รับในภาคนั้น กับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศตาม (๑) ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้น
          หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และการคำนวณโดยวิธีอื่นในกรณีที่มีการ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือในกรณีอื่น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๐๘ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
          (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
          (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง  และ
          (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใน เขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ลงทะเบียน แสดงความจำนงว่าจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการออกเสียงลงคะแนน และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๐๙ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
          (๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
          (๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา
          (๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
          (๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
          มาตรา ๑๑๐ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
          (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
          (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
          (๓) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
          (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
          (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
          (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สี่ปีการศึกษา
          (ง) เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่าห้าปี
          (๔) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตาม (๓) ด้วย แต่ในกรณีนี้จังหวัดให้หมายรวมถึงจังหวัดที่อยู่ในภาคเดียวกันด้วย
          (๕) ได้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลาสามปีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งไม่มีรายได้ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี
          (๖) มีคุณสมบัติอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๑๑ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร
          (๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
          (๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
          (๓) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๐๙ (๑) (๒) หรือ (๔)
          (๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
          (๕) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง  เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
          (๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริต ต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
          (๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
          (๘) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
          (๙) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมือง
          (๑๐) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
          (๑๑) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี
          (๑๒) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
          (๑๓) เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
          (๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๕๔
          (๑๕) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการดำรงตำแหน่งอื่น
          (๑๖) ลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๑๒ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
          ในกรณีที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในภาคใด พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในภาคนั้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วย
          เมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นหรือพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ส่งบุคคลนั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้งจะถอนการสมัครรับเลือกตั้งหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้ง มิได้
          มาตรา ๑๑๓ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือจะเป็นบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือก ต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นหรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบัญชีนั้นได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่เลือกบัญชีใด
          มาตรา ๑๑๔ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีสมาชิก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้
          มาตรา ๑๑๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
          มาตรา ๑๑๖ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
          (๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
          (๒) ตาย
          (๓) ลาออก
          (๔) สภาผู้แทนราษฎรมีมติตามมาตรา ๑๐๐
          (๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๐
          (๖) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๑
          (๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๕๒
          (๘) ลาออกจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก
          (๙) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ยุบพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิกและไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
          (๑๐) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๙ หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๕๔ หรือศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  ในกรณีเช่นนี้  ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ถูกถอดถอนหรือวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี
          (๑๑) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม
          (๑๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ  เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
          มาตรา ๑๑๗ เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนด วันเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็น วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
          ในกรณีที่มีเหตุใด ๆ ทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำในวันเดียวกันได้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยนั้นใหม่ หรือดำเนินการประการอื่นเพื่อให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ ในกรณีเช่นนี้จะเปิดเผยผลการนับคะแนนในเขตเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ได้ต่อเมื่อได้มีการลงคะแนนในทุกหน่วยเลือกตั้งแล้ว  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          มาตรา ๑๑๘ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
          การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้นำความในมาตรา ๑๑๗ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
          การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
          มาตรา ๑๑๙  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
          (๑) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่าง  เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน  และมิให้นำความในมาตรา ๑๐๗ มาใช้บังคับ
          (๒) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ประธาน สภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ผู้มีชื่อซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในลำดับถัดไปซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศรับรองผลไว้ตามมาตรา ๑๐๕ วรรคสอง ในภาคนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่ง ที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่ไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีนั้นที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
          สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๑) ให้เริ่มนับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่ง ที่ว่าง ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตาม (๒) ให้เริ่มนับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา  และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
          มาตรา ๑๒๐  ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคหรือกลุ่มของตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
          ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือหัวหน้ากลุ่มการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ในกรณีที่มีเสียงสนับสนุนเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
          ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านใน สภาผู้แทนราษฎร
          ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๓ วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง

ส่วนที่ ๓
วุฒิสภา

มาตรา ๑๒๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการเลือกกันเองและการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(๑) ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร และข้าราชการฝ่ายทหารซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละไม่เกินสิบคน

(๒) ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสิบห้าคน

(๓) ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสามสิบคน

(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจ การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กเยาวชน สตรี ด้านผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่น ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวนห้าสิบแปดคน

(๕) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน โดยให้เลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมตามด้านต่าง ๆ ซึ่งได้รับการคัดกรองจังหวัดละไม่เกินสิบคน ในกรณีที่มีจังหวัดเพิ่มขึ้น ให้ลดจำนวนที่พึงมีตาม (๔) เมื่อถึงคราวที่มีการสรรหา และเพิ่มจำนวนตาม (๕) ให้ได้เท่าจำนวนจังหวัดที่เพิ่มขึ้น

ให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ ตาม (๔) ทำหน้าที่สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาเท่าจำนวนที่พึงมีตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ให้ผู้เข้ารับการสรรหาตาม (๔) มีสิทธิสมัครเข้ารับการเลือกตั้งตาม (๕) ด้วย

ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่คัดกรองบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมในแต่ละจังหวัด ให้มีจำนวนไม่เกินสิบคน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงตาม (๕) โดยให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับและให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔๑ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนน้อยกว่าร้อยละแปดสิบห้าของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตามประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ และต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้สมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาในภายหลังนั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาแทน

จำนวนที่จะพึงมีในแต่ละประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกกันเองตาม (๑) (๒) และ (๓) รวมทั้งในการสรรหาตาม (๔) การคัดกรอง การเลือกตั้ง และการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๕) ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการ ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา ๑๒๒ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการดำเนินการ ให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

มาตรา ๑๒๓ ผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ประกาศให้เริ่มกระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

(๓) มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒๑ และสำหรับผู้มีสิทธิสมัครตามมาตรา ๑๒๑ (๕) ต้องมี คุณสมบัติตามมาตรา ๑๑๐ (๓) ด้วย

(๔) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า สำหรับสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา ๑๒๑ (๑) (๒) (๔) และ (๕)

(๕) คุณสมบัติอื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

มาตรา ๑๒๔ ผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๒) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง หรือตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาห้าปีก่อนวันที่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

(๓) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภายในระยะเวลาสองปีก่อนวันที่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

(๔) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) หรือ (๑๖)

(๕) เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี

มาตรา ๑๒๕ สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งใด ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มิได้

บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็น รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มิได้

มาตรา ๑๒๖ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ส่วนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองและการสรรหาเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปีนับแต่วันเลือกตั้งหรือวันที่มีประกาศตามวรรคหนึ่ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระ มิได้

ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า จะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ ในกรณีนี้ ให้ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาต่อไป จนถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอายุสูงสุดตามลำดับปฏิบัติหน้าที่ประธานและรองประธานวุฒิสภาแทนจนกว่าจะมีการเลือกประธานหรือรองประธานวุฒิสภาขึ้นใหม่

มาตรา ๑๒๗ เมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง และ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

เมื่อวาระของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกกันเองหรือการสรรหาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเพื่อ ให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่วาระของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเริ่มต้นกระบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแต่ละประเภทตามมาตรา ๑๒๑ ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทุกประเภท

มาตรา ๑๒๘ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อ

(๑) ถึงคราวออกตามวาระ

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) วุฒิสภามีมติให้ออกตามมาตรา ๑๐๐

(๕) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒๓

(๖) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๔

(๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๒๕๒

(๘) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๙ หรือถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๕๔ หรือศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือให้เพิกถอน สิทธิเลือกตั้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ถูกถอดถอนหรือศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี

(๙) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า หนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา หรือไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินจำนวน ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม

(๑๐) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา ๑๒๙ เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุตามมาตรา ๑๒๘ ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว และให้สมาชิกวุฒิสภา ผู้เข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของสมาชิกวุฒิสภาที่ว่างลงนั้นจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่ดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นก็ได้

มาตรา ๑๓๐ เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาต้องพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้วุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนั้น รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

เมื่อมีกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นในการที่นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ให้วุฒิสภาดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการเสนอนั้น มิได้ แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากนายกรัฐมนตรี

ส่วนที่ ๔
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง
          มาตรา ๑๓๑ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
          มาตรา ๑๓๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนใน ที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
          "ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
          มาตรา ๑๓๓ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภามีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภา สองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา
          ให้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงตำแหน่งเดียวก่อนเพื่อทำหน้าที่ประธาน โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกคะแนนเสียงสูงสุดเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสองคน โดยให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๒๐
          ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งจนอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือ สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ
          ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำทุกสามปี
          ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานและรองประธานวุฒิสภา ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามวรรคสาม เมื่อ
          (๑) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
          (๒) ลาออกจากตำแหน่ง
          (๓) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น
          (๔) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
          ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองขณะเดียวกัน มิได้  และจะเข้าร่วมประชุมพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองมิได้ด้วย
          มาตรา ๑๓๔ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ  รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมายและปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
          ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตนเป็นกลางในทางการเมือง เมื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานและรองประธานวุฒิสภาไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกกันเองให้สมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
          มาตรา ๑๓๕ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถามตามมาตรา ๑๖๕  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะกำหนดเรื่ององค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้
          การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในรัฐธรรมนูญนี้
          สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
          ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ต้องจัดให้มีการบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกแต่ละคน และเปิดเผยบันทึกดังกล่าวไว้ในที่ที่ประชาชนอาจเข้าไปตรวจสอบได้ เว้นแต่ กรณีการออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ
          การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง บุคคล หรืออาณัติอื่นใด
          มาตรา ๑๓๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๓ วรรคสี่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
          ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ในกรณีที่การเริ่มประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสำหรับปีนั้นก็ได้
          ภายใต้บังคับมาตรา ๑๘๑ และมาตรา ๑๘๒ ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในภาค ๑ หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศ  สงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
          สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่พระมหากษัตริย์ จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
          การปิดสมัยประชุมสมัยสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา
          มาตรา ๑๓๗ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
          เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุม สมัยวิสามัญก็ได้
          ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๘ การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุม และการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
          มาตรา ๑๓๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิ เข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุม สมัยวิสามัญได้
          คำร้องขอดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา
          ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
          มาตรา ๑๓๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๑ และมาตรา ๒๙๙  ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
          เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมซึ่งประธานมิได้อนุญาตให้อภิปรายหรือสั่งให้หยุดอภิปราย หรือการกล่าวถ้อยคำที่มีการถ่ายทอดให้ออกไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น
          ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าสมาชิกกล่าวถ้อยคำใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้นได้รับความเสียหาย ให้ประธานแห่งสภานั้นจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมของสภานั้น  ทั้งนี้โดยไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของ บุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล
          เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี และคุ้มครองไปถึงบุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมหรือประธานคณะกรรมาธิการอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภาทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือด้วยวิธีการอื่นใด ที่ได้รับอนุญาตจากประธานแห่งสภานั้นด้วยโดยอนุโลม
          มาตรา ๑๔๐ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด หรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
          ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับได้
          ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
          การพิจารณาพิพากษาคดีที่ศาลได้กระทำก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง ย่อมเป็นอันใช้ได้
          ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันทีถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
          คำสั่งปล่อยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
          มาตรา ๑๔๑ ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้  เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) การประชุมวุฒิสภาตามมาตรา ๗ วรรคสอง หรือการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๑๙๒
          (๒) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ความเห็นตามมาตรา ๑๓๐ วรรคสองหรือวรรคสาม
          (๓) กรณีอื่นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้งานของวุฒิสภาหรืองานด้าน นิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร
          ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมวุฒิสภาตามมาตรานี้ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
          ในกรณีที่มีปัญหาตาม (๓) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
          มาตรา ๑๔๒ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา  แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี สมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่รวมกัน แล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
          มาตรา ๑๔๓ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา เรื่องหรือกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด การปฏิบัติหน้าที่และองค์ประชุมของคณะกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การบันทึกการลงมติ การเปิดเผยการลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และการอื่นที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
          ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีสมาชิกในสังกัดดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
          เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับข้อบังคับการประชุมตามมาตรานี้แล้ว ก่อนประกาศใช้ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
          คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างข้อบังคับการประชุมข้อใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ หรือข้อบังคับการประชุมใดตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างข้อบังคับการประชุมนั้น เป็นอันตกไป
          มาตรา ๑๔๔  สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา มีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา แล้วรายงานต่อสภา มติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต้องระบุกิจการหรือเรื่องให้ชัดเจนและไม่ซ้ำหรือซ้อนกัน
          เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
          กรรมาธิการสามัญซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
          ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๔๓ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนตามวรรคสาม
          คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่จะมีคำสั่งเรียกผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กร ตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยตรงตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย มิได้
          ในกรณีที่บุคคลตามวรรคห้าเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการตามวรรคห้า เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน บุคคลนั้น มีสิทธิที่จะไม่แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นได้

ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา

มาตรา ๑๔๕ ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

(๑) การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๙

(๒) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาตามมาตรา ๒๑

(๓) การรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ตามมาตรา ๒๒

(๔) การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามมาตรา ๒๓

(๕) การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้ตามมาตรา ๑๓๖ วรรคสี่

(๖) การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมตามมาตรา ๑๓๖ (๗) การเปิดประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๓๗

(๘) การตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาตามมาตรา ๑๔๖

(๙) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๕๑ และมาตรา ๑๖๑ วรรคสอง

(๑๐) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาตรา ๑๕๗

(๑๑) การให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามมาตรา ๑๖๒ วรรคสอง

(๑๒) การแถลงนโยบายตามมาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง

(๑๓) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๘๐

(๑๔) การให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามมาตรา ๑๗๙

(๑๕) การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามตามมาตรา ๑๙๒

(๑๖) การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๙๓

(๑๗) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒

มาตรา ๑๔๖ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน

ให้นำความในมาตรา ๑๔๓ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการตราข้อบังคับการประชุมรัฐสภาด้วย โดยอนุโลม

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในเรื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการซึ่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของแต่ละสภาจะต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา

ส่วนที่ ๖
การตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
          มาตรา ๑๔๗ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
          (๑) คณะรัฐมนตรี
          (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
          (๓) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสี่สิบคน
          (๔) ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการ จัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ หรือ
          (๕) พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่มีผู้เสนอตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
          ในกรณีที่พลเมืองได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (๕) แล้ว ให้สภาที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น เริ่มพิจารณาภายในเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือวันที่นายกรัฐมนตรีส่งคำรับรองกลับคืนมา หากบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับร่างพระราชบัญญัตินั้นอีก ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๖ วรรคสาม มาใช้บังคับกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นด้วย
          เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติภาค ๔ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง  ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๒๗๙ มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติได้ตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๔  ส่วนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรา ๒๘๐
          มาตรา ๑๔๘ ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ร่างพระราชบัญญัติ ตามมาตรา ๑๔๗ (๑) (๒) (๔) และ (๕) ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน  ส่วนร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา ๑๔๗ (๓)  ให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน
          ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย
          ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินั้นได้โดยสะดวก
          มาตรา ๑๔๙ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
          (๑) การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
          (๒) การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณแผ่นดิน
          (๓) การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
          (๔) เงินตรา ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่จะต้องมี คำรับรองของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย
          ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากรณีตามวรรคสอง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว
          มติของที่ประชุมร่วมกันตามวรรคสอง ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
          มาตรา ๑๕๐ ร่างพระราชบัญญัติใดที่ในขั้นรับหลักการไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน แต่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติม และประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาสั่งระงับการพิจารณาไว้ก่อน และภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีดังกล่าว ให้ประธาน สภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย
          ในกรณีที่ที่ประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่งวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ร่างพระราชบัญญัตินั้น มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นไปให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง ให้สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาดำเนินการแก้ไขเพื่อมิให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
          มาตรา ๑๕๑ ร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาตามมาตรา ๑๗๗ ว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน  หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ และคะแนนเสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อมีมติอีกครั้งหนึ่ง  หากรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบ ให้ตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกของแต่ละสภามีจำนวนเท่ากันตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ประกอบกันเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภารายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติ ที่ได้พิจารณาแล้วต่อรัฐสภา  ถ้ารัฐสภามีมติเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  ถ้ารัฐสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
          มาตรา ๑๕๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐๒ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา ๑๔๘ และลงมติเห็นชอบแล้ว ให้เสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่ออีกสภาหนึ่งซึ่งยังมิได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นให้เสร็จภายในหกสิบวัน  แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน  ทั้งนี้ เว้นแต่สภาที่พิจารณาในครั้งหลังนี้จะได้ลงมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน  กำหนดวันดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงสภาดังกล่าว
          กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๕
          ถ้าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาดังกล่าวได้ให้ความเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น
          ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไปยังวุฒิสภา ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไปนั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน  คำแจ้ง ของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเด็ดขาด
          ในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรมิได้แจ้งไปว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
          มาตรา ๑๕๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐๒ เมื่อสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว
          (๑) ถ้าเห็นชอบด้วยกับสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
          (๒) ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก
          (๓) ถ้าแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรก ถ้าสภานั้นเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖ ถ้าเป็นกรณีอื่น ให้แต่ละสภาตั้งบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้คณะกรรมาธิการร่วมกันรายงาน และเสนอร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบ ด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖ ถ้าสภาใด สภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน
          คณะกรรมาธิการร่วมกันอาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้  และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
          การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันต้องมีกรรมาธิการของสภาทั้งสองมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
          ถ้าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ไม่ส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นสภาแรกภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๒ ให้ถือว่าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ได้ให้ความเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๖ ต่อไป
          มาตรา ๑๕๔ ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๕๓  นั้น
          (๑) ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภาตามมาตรา ๑๕๓ (๒) วุฒิสภาอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติยังยั้ง ถ้าวุฒิสภามีมติยืนยันร่างเดิมของวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๓ วรรคหนึ่ง (๓) วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ต่อไป เว้นแต่สภาใดสภาหนึ่ง ไม่เห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันได้พิจารณาแล้ว ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้น เป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ยืนยันร่างเดิมภายในเวลาดังกล่าวหรือมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียง ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
          (๒) ถ้าวุฒิสภาเป็นผู้ลงมติยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๓ (๒) สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่วุฒิสภาลงมติยับยั้ง  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖  แต่ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่  ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
          (๓) ถ้าเป็นกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๕๓ (๓) นั้น สภาผู้แทนราษฎรอาจยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้เมื่อเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันได้ล่วงพ้นไปนับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย  ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร หรือของวุฒิสภา หรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
          (๔) ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ไม่ว่าวุฒิสภาจะพิจารณายืนยันร่างพระราชบัญญัตินั้นหรือไม่ก็ตาม   ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖
          (๕) ร่างพระราชบัญญัติใดที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อเสนอตามมาตรา ๑๔๗ (๕) ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องเป็นอันตกไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา รวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา อาจร้องขอให้มีการออกเสียงประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้ได้ข้อยุติได้
          มาตรา ๑๕๕ ในระหว่างที่มีการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติใดตามมาตรา ๑๕๓ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้มิได้
          ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้น เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป
          มาตรา ๑๕๖ ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย  และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
          มาตรา ๑๕๗  ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่  ถ้ารัฐสภามีมติ ยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง  เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
          มาตรา ๑๕๘ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาวินิจฉัยว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามิได้พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนเกี่ยวกับบุคคลประเภทนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด  ทั้งนี้ โดยมีสัดส่วนหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน
          มาตรา ๑๕๙ ให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
          (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
          (๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะรัฐมนตรี
          (๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
          (๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง
          (๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
          (๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
          (๗) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
          (๘) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
          (๙) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          (๑๐) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
          (๑๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ
          (๑๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
          มาตรา ๑๖๐  ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะเสนอได้ก็แต่โดย
          (๑) คณะรัฐมนตรี
          (๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
          (๓) สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ
          (๔) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  ซึ่งประธานศาลหรือประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ
          ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตาม (๑) (๒) และ (๔) ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน   ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตาม (๓) ให้เสนอต่อวุฒิสภาก่อน
          มาตรา ๑๖๑  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้กระทำเป็นสามวาระ ดังต่อไปนี้
          (๑) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา
          (๒) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
          ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ มาใช้บังคับกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
          มาตรา ๑๖๒ ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมานั้น เป็นอันตกไป
          ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิก  สภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอภายในหกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย  แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมิได้ร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินั้น เป็นอันตกไป  แต่ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอตามมาตรา ๑๔๗ (๕) ที่รัฐสภายังมิได้ ให้ความเห็นชอบ ให้รัฐสภาที่เลือกตั้งขึ้นใหม่พิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องมีมติตามวรรคนี้อีก

ส่วนที่ ๗
การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๖๓ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

ในกรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทำให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปตามวรรคสอง ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยมติในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา แล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙๘ และมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ แล้วแต่กรณี ต่อไป

มาตรา ๑๖๔ ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา ๑๕๖ หรือร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา ๑๕๗ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก ครั้งหนึ่ง

(๑) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

(๒) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า

ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ แต่มิใช่กรณี ตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา ๙๘ และมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ แล้วแต่กรณี ต่อไป

ส่วนที่ ๘
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
          มาตรา ๑๖๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ และนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบโดยเร็ว  แต่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบกระทู้ถามนั้นด้วยตนเอง  เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
          มาตรา ๑๖๖  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย  และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้  เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม
          การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๕๔ ก่อน  หรือถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินอันเล็งเห็นได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินแผ่นดิน จะเสนอโดยไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัย การคลังและการงบประมาณตามมาตรา ๒๔๔ ก่อน มิได้  และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๕๔ หรือมีการฟ้องคดีตามมาตรา ๒๔๔ แล้วแต่กรณี แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้
          เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ  การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด และให้นับเฉพาะคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเท่านั้น  มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงก่อนมีการลงมติดังกล่าว
          ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
          ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป  และมิให้นำมาตรา ๑๗๒ มาใช้บังคับ
          มาตรา ๑๖๗ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในหกของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๖ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
          รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตำแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามวรรคหนึ่งต่อไป
          ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับรัฐมนตรีผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเดิมไม่เกินเก้าสิบวันก่อนวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อตามวรรคหนึ่ง แต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นด้วยโดยอนุโลม
          มาตรา ๑๖๘ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มิได้อยู่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๖๖ หรือมาตรา ๑๖๗ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวทั้งหมดเท่าที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามมาตรา ๑๖๖ หรือมาตรา ๑๖๗ ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้บริหาร ราชการแผ่นดินมาเกินกว่าสองปีแล้ว
          มาตรา ๑๖๙ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ
          การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ จะกระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง
          มาตรา ๑๗๐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระจากมติพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ