คปภ. แจงรถทัวร์ตกเหวที่ตาก ประกันภัยคุ้มครอง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 26, 2014 15:02 —คปภ.

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 มีนาคม 2557 เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 31-5633 กรุงเทพมหานคร นำคณะบุคคลและผู้นำชุมชนของเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก เพื่อไปศึกษาดูงานที่จังหวัดอุบลราชธานี และประเทศลาว เสียหลักตกเหว บริเวณดอยลวก บนถนนสายตาก-แม่สอด ตำบลแม่ท้อ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย และบาดเจ็บ 23 ราย นั้น

สำนักงาน คปภ. ได้ประสาน สำนักงาน คปภ. จังหวัดตาก ทราบเบื้องต้นว่ารถทัวร์คันดังกล่าว ได้จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทายาทผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้

1. ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน

1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน

1.3 ความคุ้มครองจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับผู้ขับขี่ 50,000 บาท และผู้โดยสาร 43 คนๆ ละ 50,000 บาท

2. ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้ดังนี้

2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน

2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า อุบัติเหตุครั้งนี้มีความสูญเสียจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ในเบื้องต้นทราบว่าบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อทายาทตามกฎหมายของผู้เสียชีวิตในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และได้ประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาลแล้ว อุบัติเหตุใหญ่ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นมาก ค่าสินไหมทดแทนทำได้เพียงบรรเทาแต่ไม่สามารถทดแทนความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะได้มีการเร่งเพิ่มมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการและยวดยานพาหนะที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้นโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารตลอดจนสาธารณชนเป็นสำคัญ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ www.oic.or.th

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ