คปภ. จับมือธนาคารกลางแห่งมาเลเซียปลุกผลิตภัณฑ์ประกันภัย “ตะกะฟุล-ประกันภัยรถยนต์ข้ามแดน”คืนชีพ ประสานความร่วมมือ Bank Negara Malaysia (BNM) ลงนาม MOU เป็นครั้งแรกระหว่างสองหน่วยงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 19, 2017 16:02 —คปภ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง สำนักงาน คปภ. ได้ให้การต้อนรับ Mr. Muhammad Bin Inbrahim ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia : BNM) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อบูรณาการความร่วมมือลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เป็นครั้งแรกระหว่างสองหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านประกันภัยที่เป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยระหว่างกัน รวมถึงจัดอบรมแลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับบุคลากรประกันภัยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีโครงสร้างตลาดประกันภัยที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยจากข้อมูลของ SwissRe Institute, Sigma No.3/2017 ปีที่แล้วประเทศมาเลเซียมี Insurance Penetration อยู่ที่ร้อยละ 4.77 เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 7.15 และประเทศไทย ร้อยละ 5.42 ดังนั้นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมประกันภัยของทั้งสองประเทศ

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยถึงที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สำนักงาน คปภ. และ BNM ในครั้งนี้ว่าเริ่มจากที่ตนและคณะผู้แทนจากสำนักงาน คปภ. ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปีสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ครั้งที่ 24 (24th IAIS Annual Conference) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียโดยมีสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) เป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia : BNM) เมื่อวันที่ 2 – 3 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งได้มีการร่วมประชุมทวิภาคีกับ Mr. Muhammad Bin Ibrahim ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย (BNM) พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ BNM โดยได้มีการหารือในหลายประเด็นทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตะกะฟุลการเปิดเสรีอัตราเบี้ยประกันภัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เข้ารับการประเมินภาคการเงิน (FSAP) รวมถึงการยกระดับความร่วมมือโดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมการให้ความรู้ระหว่างกัน

สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งสองหน่วยงานและถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งสามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่ากำลังอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ภาคธุรกิจทุกประเภท รวมถึงภาคประกันภัยเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือเข้าด้วยกัน เพื่อนำเอาความรู้ วิทยาการ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการให้บริการอย่างครบวงจร

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการใหม่ๆระหว่างกัน โดยสำนักงาน คปภ.จะได้มีการพัฒนาตนเองภายใต้ยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนำองค์ความรู้จากมาเลเซียด้าน Insure Tech ในเรื่องที่เกี่ยวกับ IT audit และ Regulatory sandbox มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย รวมทั้งองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนการนำเอาประสบการณ์และข้อแนะนำของธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซียที่เกี่ยวกับการประเมิน FSAP ไปแล้วเมื่อปี 2556 เพื่อที่สำนักงาน คปภ.จะได้นำข้อมูลมาปรับใช้ในการเตรียมตัวเข้ารับการประเมิน FSAP ในปี 2561 นอกจากนี้จะมีการบูรณาการความร่วมมือและมีการต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยตะกะฟุลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งสองประเทศ ตลอดจนความร่วมมือเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์ข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน Mr. Muhammad Bin Inbrahim ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia : BNM) ได้กล่าวชื่นชมมาตรการเชิงรุกของสำนักงาน คปภ. ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย โดยมีความประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านประกันภัย เช่น การทำประกันภัยข้าวนาปีของไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทำให้เกษตรกรชาวนาไทยสามารถนำเอาระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยจากการเกิดภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบครบวงจร รวมทั้งในเรื่องของมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับการกำกับนายหน้าประกันภัยขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยแห่งแรกในอาเซียนของไทยเพื่อลดปัญหาข้อพิพาทด้านการประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย

ทั้งนี้ภายหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ Bank Negara Malaysia จะหารือในระดับ working-level ด้านกรอบความร่วมมือด้านการประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Insurance Integration Framework) และการประกันภัยต่อ นอกจากนี้ Bank Negara Malaysia ได้เสนอให้ข้อมูล Fraud Intelligence System (FIS) แก่สำนักงาน คปภ. ซึ่ง FIS เป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลประกันภัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการ ฉ้อฉลที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการประกันภัยรถยนต์ โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลและเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ซึ่ง FIS ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ