แนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 1, 2009 15:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ด้วยพื้นฐานของชาวญี่ปุ่นที่ชอบประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ชาวญี่ปุ่นจึงคาดหวังที่จะเห็นสินค้าใหม่ๆตลอดเวลา วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2540 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่น ที่สำคัญ ได้แก่

  • ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนเริ่มประหยัดการใช้จ่าย ชาวญี่ปุ่นที่เคยนิยมท่องเที่ยวและซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงจากต่างประเทศ ชอบซื้อสินค้าลอกเลียนแบบกัน และยึดถือค่านิยมว่าสินค้าจากยุโรป อเมริกาจึงคุณภาพดีและทันสมัย เริ่มลดความสำคัญลง มาสู่การซื้อเห็นว่าคุ้มค่า ไม่เพียงตำนึงถึงรูปแบบ ความสวยงาม ปราณีตเท่านั้น แต่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยควบคู่กัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าที่แสดงออกถึงสไตล์และบุคคลิกที่เป็นของตนเอง
  • ชาวญี่ปุ่นหันมาสนใจต่อการรักษาสุขภาพและหาทางลดความเครียดลง โดยเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้มาใกล้ชิดและเป็นมิตรกับธรรมชาติ นิยมการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เป็นการผสมผสานระหว่าง ธรรมชาติความเรียบง่าย และวิถีชีวิตแบบใหม่(Natural, Simplicity and Modern lifestyle)
  • เกิดกระแสความนิยมในสินค้าเอเซียขึ้นในตลาดญี่ปุ่นนับแต่ปี 2544 และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน เนื่องเพราะลักษณะพื้นฐานสำคัญ ๒ ประการ คือ เป็นงานหัตถกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมา ซึ่งชาวญี่ปุ่นให้คุณค่าสูง และ สินค้าส่วนใหญ่ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นจึงให้ความรู้สึกที่กลมกลืนกับธรรมชาติ
  • หนุ่มสาวแต่งงานช้าลงและชอบใช้ชีวิตอิสระ ลำพัง อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น ครัวเรือนที่อยู่อาศัยเพียง 1-2 คนมีจำนวนมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมส่งของขวัญ ของชำร่วยเพื่อสื่อสารถึงกันและสร้างความรู้สึกอบอุ่น
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตลาด

กระแสความนิยมสินค้าเอเซียในญี่ปุ่น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าอาหาร และกลุ่มสินค้าของขวัญที่ซื้อเพื่อให้กันในโอกาสต่างๆแต่ขยายวงกว้างถึงสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทุกชนิด ทั้งของใช้ส่วนบุคคล และสำหรับครัวเรือน เช่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ไหม และฝ้าย ผ้าทอมือและฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาติ ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้านและสวนทำด้วยเซรามิก ผลิตภัณฑ์ Terra Cotta เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้ไผ่ และชนิดที่มีการผสมวัสดุหลายชนิด เช่น ตกแต่งด้วยเบาะทอจากใยวัสดุธรรมชาติ ตระกร้าสาน ผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาหาร โอกาสตลาดของสินค้าไทยจึงขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สินค้าที่กำลังได้รับความสนใจสูง และตลาดยังจะขยายตัวไปอีกนาน โดยเฉพาะกลุ่มสตรีวัยทำงาน อายุ 20-40 ปีที่ให้ความสำคัญมากขึ้นต่อสุขภาพ และนิยมสื่อสาร แสดงความห่วงใยกันด้วยการส่งของขวัญ เป็นการซื้อที่มีตลอดปี ไม่เลือกเทศกาลหรือโอกาส ควรเป็นของที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เช่นสามารถใส่ในกระเป๋าถือสตรีได้ราคาเฉลี่ยที่ซื้อกัน ครั้งละประมาณ 1,000-3,000 เยน เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ เสริมความงาม สินค้าที่ผลิตและแปรรูปจากวัสดุธรรมชาติ และสินค้าที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เช่น สินค้ากลุ่ม Aroma Therapy, Healing & Relaxation และ Casualty product เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจัดเป็นชุด สบู่ผลิตจากสมุนไพร เทียนหอม น้ำมันระเหยชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

วิถีการตลาดและกระจายสินค้า

สินค้า ที่เข้าไปวางจำหน่ายในญี่ปุ่น ขายผ่านหลายช่องทาง ทั้งการสั่งซื้อผ่านบริษัทการค้าระหว่างประเทศหรือผู้นำเข้า และการติดต่อสั่งซื้อไปยังผู้ส่งออกในต่างประเทศโดยตรง ด้วยเหตุที่ความสนใจของตลาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มักหลีกเลี่ยงการเก็บสำรองสินค้า โดยจำกัดปริมาณสั่งซื้อคราวละไม่มาก และเร่งการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีร้านค้าเล็กๆ จำนวนมาก เน้นการจำหน่ายสินค้าที่หมุนเวียนเร็ว สินค้าแฟชั่น และมีวิธีนำเสนอสินค้าสไตล์ของตน ผู้ประกอบการเหล่านี้ จะนิยมเดินทางออกไปเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่จัดแสดงตามเมืองใหญ่ๆ และในต่างประเทศ ตัดพ่อค้าคนกลางโดยหาลู่ทางติดต่อกับผู้ผลิตโดยตรงเพื่อลดต้นทุน ใช้ความได้เปรียบของประสพการณ์ มีความเข้าใจในแนวโน้มรสนิยมของตลาด จึงเลือกสั่งซื้อหรือสั่งผลิตสินค้าตามสไตล์ของตนเอง ตลาดญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มเป็นตลาดของผู้ซื้อมากขึ้น ขณะที่ผู้ค้า หรือผู้นำเข้ามีแนวโน้มสั่งซื้อในปริมาณที่ลดลง แต่เพิ่มความหลากหลาย และมองหาสินค้าใหม่ๆ ไปป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอ

บริษัท Catalog sale, Mail order, TV Shopping การขายผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นอีกกลุ่มที่มีอิทธิพลชี้นำและจูงใจตลาดอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่น และสตรี เพราะนอกจากจะให้ความสะดวกแก่ผู้ซื้อ มีสินค้าให้เลือกจำนวนมาก และได้รับสินค้าตามเวลาที่ต้องการ บริษัทยังให้ข้อมูลแนวโน้มแฟชั่น โทนสี และ high light สินค้าใหม่ๆที่ต้องการแนะนำ พร้อมแนวคิดในการนำไปใช้ประโยชน์หรือตกแต่งผ่านแคตตาล็อกสินค้าของบริษัทซึ่งออกวางจำหน่ายเป็นประจำทุกๆ 3-4 เดือน การขายสินค้าผ่าน Catalog และ Mail order น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าปลีกที่มีเข้ามาบทบาทสูงอีกกลุ่ม คือ ร้าน 100 เยน(ขายสินค้าทุกชนิดในราคาเดียว 100 เยน)ซึ่งเน้นสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันทุกชนิดในราคาถูก แต่ก็มีการสั่งซื้อจำนวนมากและเป็นที่นิยมในกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่น

กฎระเบียบนำเข้าและภาษี

สินค้าทั่วไปไม่มีข้อจำกัดหรือห้ามนำเข้า แต่จะมีกฎระเบียบเรื่องมาตรฐานและการตรวจสอบคุณภาพสินค้ากำหนดแยกกันไปตามชนิดสินค้า และการนำไปใช้สอย เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทอได้แก่ Household Good Quality Labeling Law, Law for the Control of Household Products Containing Harmful Substance ซึ่งค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.meti.go.th

อัตราภาษีนำเข้าต่างกันไปตามชนิด

ตลาดสินค้าไทยในญี่ปุ่น

สินค้า ของไทยที่เข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่น อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ไปญี่ปุ่น สินค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ เนื้อไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผัก-ผลไม้ อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน เครื่องดื่ม อาหารไทยสำเร็จรูป
  • เครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องจักร รถยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่อง
คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ วิทยุและเครื่องส่ง เป็นต้น
  • สินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าอุปโภคต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ของขวัญของชำร่วยผลิตภัณฑ์สปาและเสริมความงามต่างๆ
จุดเด่นและจุดอ่อนของสินค้าไทยในสายตาผู้ซื้อญี่ปุ่น
  • จุดเด่นของสินค้าไทย ในภาพรวม ผู้นำเข้าและผู้ซื้อญี่ปุ่นเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดี มีมาตรฐานสูง การออกแบบสวยงามมีเอกลักษณ์ของตนเอง ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในตลาดจึงเด่นกว่าผู้ผลิตจากประเทสอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าพื่อสุขภาพ และสินค้าหัตถกรรมของไทย แสดงออกถึงงานฝีมือที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ มีความปราณีตบรรจง ซึ่งงานผลิตเหล่านี้ไม่สามารถผลิตในประเทศญี่ปุ่นได้อีกแล้วสินค้าหลายชนิดให้ความรู้สึกที่ดีและเพิ่มพลังเมื่อนำไปใช้งาน กลมกลืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระดับการสร้างสรรและแปลกใหม่ในการนำวัสดุธรรมชาติหลากชนิดมาใช้ จึงเรียกความสนใจจากตลาดได้มาก ผลิตภัณฑ์ผ้า ผ้าทอมือมีการพัฒนารวดเร็วทั้งดีไซด์ และการนำวัสดุใหม่ๆมาใช้ ผลิตภัณฑ์สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมสูงตามลำดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไหมและฝ้าย ตระกร้าสาน ผลิตภัณฑ์ไม้ เซรามิก เครื่องประดับเงิน และผลิตภัณฑ์กระดาษ
  • จุดอ่อน ผู้นำเข้าและผู้ซื้อญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า ผู้ผลิตไทยควรให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบกับประโยชน์ใช้สอย(function conscious design) เช่น สมุดโน๊ตกระดาษสาต้องสามารถใช้งานได้จริง เสื่อหรือผ้าที่ใช้รองภาชนะอาหารไม่ควรออกแบบให้มีสีสดใส หรือผสมหลากสี เพราะจะเข้ากับเครื่องครัว ภาชนะและอาหารได้จำกัด ผู้ซื้อได้แสดงความกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น ความแข็งแรงของหูจับตะกร้าสาน ความชื้นของเส้นใยธรรมชาติที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เพราะเกรงเชื้อรา และแมลง กลิ่นของไม้ รวมทั้งข้อมูลกรรมวิธีการผลิต เช่นย้อมสีธรรมชาติหรือเคมี ทอด้วยมือหรือเครื่อง วิธีการใช้งานและการซักล้าง สารที่เคลือบบนภาชนะเซรามิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายความปลอดภัย และขนาดของสินค้าสำหรับญี่ปุ่น เช่น เสื่อหรือพรมปูพื้น ควรมีขนาดอย่างน้อย 1 เสื่อทาทามิ (ขนาดยาว 1.86 เมตร กว้าง 0.93 เมตร) นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านไม่ควรมีขนาดใหญ่ เพราะขนาดพื้นที่บ้านญี่ปุ่นจำกัด
แนวโน้มและความสนใจของตลาด

ผู้เชี่ยวชาญตลาดได้ให้คำจำกัดความของผู้ซื้อญี่ปุ่นว่า เป็นตลาดของผู้ซื้อที่มีความรู้สึกสัมผัส (Sense)เรื่องแฟชั่นสูง เบื่อเร็ว และชอบแสวงหาของใหม่ๆ ปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อ ได้แก่ คุณภาพ คุณค่าของตัวสินค้า รูปแบบและสี ขณะนี้ กระแสความนิยมสินค้าเอเซียเริ่มลดน้อยลงไปมาก ขณะเดียวกันภาพลักษณของสินค้าเอเซียในสายตาผู้ซื้อ คือ สินค้าสำหรับช่วงฤดูร้อน โดยพื้นฐาน คนญี่ปุ่นมักมองและติดตามแฟชั่นของยุโรปตลอดเวลาสินค้าที่ขายได้ดีจึงควรมีการออกแบบที่เป็นสากล มีการผสมผสานสไตล์เอเซียเข้ากับยุโรป การเน้นขายสินค้าพื้นเมือง เน้นศิลปะวัฒนธรรมไทย แม้ว่าจะเรียกความสนใจได้มาก แต่ก็คงอยู่ในเวลาสั้น และตลาดจำกัดความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • ตัวสินค้า การแข่งขันและแสวงหาของกลุ่มผู้ค้า ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกเข้าไปจำหน่ายยิ่งกว่านั้นผู้นำเข้าญี่ปุ่นยังมีบทบาทเข้าไปแนะนำและสั่งผลิตสินค้าตามดีไซด์ของตน(OEM) สินค้าที่นำเข้าจากแหล่งต่างๆ จึงมีความคล้ายคลึงกัน ชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่น ไม่ค่อยสนใจว่าสินค้าจะผลิตจากไหน แต่จะซื้อเพราะชอบในการออกแบบ ต้องมีความแปลกใหม่และสามารถใช้ประโยชน์ได้ และใช้ได้ตลอดปี ตลาดญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (High Value Added Products) ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ การเชื่อมโยงระหว่างนักออกแบบและผู้ผลิตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สินค้าไทยพัฒนาไปพร้อมๆ กับแนวโน้มของตลาด

สภาพเศรฐกิจทำให้วัยรุ่นญี่ปุ่นมีชีวิตโดดเดี่ยว ต้องการความอบอุ่น การให้ของขวัญแทนการสื่อสารถึงกันจึงนับวันจะขยายตัวและเป็นการซื้อที่มีขึ้นตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเมื่อพบเห็นสินค้าที่ชอบ สินค้าเพื่อบำรุงสุขภาพ สินค้าที่สื่อถึงความห่วงใยจึงได้รับความนิยมมาก สินค้าควรมีขนาดพอเหมาะ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และง่ายต่อการพกพา

  • มาตรฐานและการควบคุมคุณภาพ ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อคุณภาพ มาตรฐานอย่างมาก บริโภคสินค้าพร้อมๆ กับเรียนรู้ข้อมูลของสินค้า เป็นผู้ซื้อที่มีความตื่นตระหนกต่อความปลอดภัยสูง
  • การควบคุมคุณภาพและระยะเวลาส่งมอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้นำเข้าถือว่าเป็นความเสี่ยงนี้เป็นต้นทุนสำคัญ เพราะตลาดเปลี่ยนเร็วและแข่งขันสูง ความล่าช้าจึงหมายถึงการสูญเสียโอกาสและรายได้ มีการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และมีความต่อเนื่องในการผลิต
  • การนำสินค้าสู่ตลาด ผู้ผลิตควรกำหนดเป้าหมายตลาดที่ต้องการให้ชัดเจน การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ ยังคงเป็นวิธีนำเสนอสินค้าที่ได้ผลเพราะนอกจากจะได้พบผู้ซื้อจำนวนมาก และทำให้ได้ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตจากแหล่งอื่น นิตยสารและสื่อประชาสัมพันธ์ยังคงมีบทบาทชี้นำสูงในญี่ปุ่นหากมีการร่วมมือกับผู้นำเข้า นิตยสาร สื่อประชาสัมพันธ์ และกลุ่มธุรกิจ Mail order ก็จะช่วยให้สินค้าไทยปรากฎแก่สายตาผู้ซื้อในวงกว้างขึ้น http://www.jadma.org/e_page/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ