การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งชาติเวียดนามและผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2009 16:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเกิด foreign currency crisis

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 เวียดนามประสบภาวะวิกฤติเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรงปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ที่หมุนเวียนในตลาดขาดแคลนอย่างหนักจนทำให้ราคา USD ในตลาดมืดแตกต่างจากราคาที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดไว้เป็นอย่างมากโดยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ราคา USD ในตลาดมืดสูงขึ้นเป็น 19,750 — 19,850 ด่อง/USD ขณะที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 17,885 ด่อง/USD

ตลาดมืดของเวียดนามแม้จะไม่ใหญ่ แต่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชนและมีผลต่อการเก็งกำไรผู้ส่งออกจึงถือเงิน USD ไว้โดยไม่ยอมนำมาขายให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจำนวนเงินดังกล่าวมีประมาณ 10.3 พันล้าน USD และส่วนใหญ่เป็นการถือของวิสาหกิจของรัฐ ทำให้ตลาดเงินตราต่างประเทศของเวียดนามขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ จนเป็นเหตุให้ค่าเงิน USD เพิ่มขึ้น 5.18 % เมื่อเทียบกับเงินด่องประชาชนหลายคนพากันถอนเงินด่องเพื่อซื้อดอลลาร์หวังเก็งกำไร ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก เพราะผู้นำเข้าไม่สามารถซื้อเงิน USD ไปชำระค่าสินค้าได้ หรือแม้จะหาซื้อได้ในตลาดมืดก็ต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากทำให้ภาวะการนำเข้าชะงักงันทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วช่วงปลายปี จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเพื่อจำหน่ายสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และวันตรุษเวียดนาม นอกจากนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการนำเข้าอย่างน้อย 500 รายการ ได้สูงขึ้นจากต้นปีประมาณ 8 — 10% ผู้จำหน่ายสินค้าบางรายตั้งราคาขายโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 20,000 - 21,000 ด่อง/USD เป็นฐานเพราะเก็งว่าราคา USD จะยังคงสูงขึ้นต่อไปจนถึงต้นปี 2553 ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นเป็น 4.35% ( y-on-y) ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดนับจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและคาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 6% ในช่วงปลายปี 2552

มาตรการแทรกแซงของธนาคารแห่งชาติเวียดนาม

การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลเวียดนามต้องรีบดำเนินการ เพื่อมิให้ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงกลับมาเข้ามาอีก ดังนั้นในช่วงเที่ยงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ธนาคารแห่งชาติเวียดนาม ( State Bank of Vietnam ) ได้ประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยนทางการสำหรับเงินเวียดนามด่องเพิ่มขึ้นประมาณ 5.44 % จาก 17,034 ด่อง/USD เป็น 17,961 ด่อง/USD ซึ่งอัตรานี้กำหนดให้มีการเคลื่อนไหวของการค้าเงินตราต่างประเทศในแต่ละวัน ( forex trading band ) ได้แคบลงจากเดิม + 5% เป็น + 3% คืออัตราแลกเปลี่ยนจะปรับขึ้นลงได้ในช่วงระหว่าง 17,422 — 18,500 ด่อง/USD

การปรับดังกล่าวทำให้เพดานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในการซื้อเงินดอลลาร์ของธนาคาร ต่างๆ สูงขึ้นถึง 18,500 ด่อง/USD ( 26 พย.52 ) แทนอัตราเดิมคือ 17,885 ด่อง/USD ( 25 พย.52 ) ซึ่งหมายถึงค่าเงินเวียดนามด่องลดลง 3.44 %

ประกาศของธนาคารแห่งชาติเวียดนามมีผลทันทีในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552

นอกจากนี้ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือถึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 รายใหญ่ คือ Vietnam National Oil and Gas Group ( Petro Vietnam ) และ Vietnam Coal and Mineral Industries ( Vinacomin ) ขอให้นำเงินตราต่างประเทศมาขายให้แก่ธนาคารแห่งชาติเวียดนาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ามีปริมาณเงินตราต่างประเทศหมุนเวียนในตลาดอย่างเพียงพอ

หลังการประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ราคา USD ในตลาดมืดลดลงเป็น 19,100 — 19,400 ด่อง/USD ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 18,485 — 18,490 ด่อง/USD ทำให้ความแตกต่างลดลง คาดว่าหากกลุ่มวิสาหกิจของรัฐปล่อยเงิน USD เข้าสู่ระบบธนาคาร ความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวน่าจะลดลงกว่านี้

พร้อมกับการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศดังกล่าว ธนาคารแห่งชาติของเวียดนามได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยกลาง ( prime rate ) จาก 7% เป็น 8% ซึ่งจะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ได้สูงขึ้น 12% จากปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็น 9.5 — 10% และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยส่วนลด ( discount rate ) จาก 5% เป็น 6% โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552

ผลต่อการส่งออกของไทยมายังตลาดเวียดนาม
ผลดี: การส่งออกของไทยมายังตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้นเพราะ

(1) ผู้นำเข้าสามารถตัดสินใจนำเข้าสินค้ามากขึ้น

ก่อนการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนทางการใหม่ ผู้นำเข้าสินค้า quoted ราคาสินค้าเป็น USD แต่ได้รับเงินค่าชำระสินค้าเป็นเงินด่องโดยอิงอัตราแลกเปลี่ยนของทางการขณะที่ผู้นำเข้าไม่สามารถนำเงินด่องไปแลกซื้อ USD จากธนาคารพาณิชย์ได้ตามปริมาณที่ต้องชำระคืนให้เจ้าของสินค้าจำเป็นต้องแลกซื้อเงิน USD ในตลาดมืดโดยเสียค่าแลกเปลี่ยนสูงกว่ามากทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งการนำเข้าจากไทยเพราะต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง ๆ ที่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีควรเป็นช่วง peak ของการสั่งซื้อสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคจากไทย

**การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในเดือนตุลาคม 2552 ชะลอตัวลงจากเดือนกันยายน ที่ผ่านมา 0.9% ทั้งที่โดยปกติแล้วไตรมาสสุดท้ายของทุกปีจะต้องมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามได้มีแนวโน้มสูงขึ้น 7 เดือนติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 จนถึงเดือนกันยายน 2552

หลังการประกาศฯ ราคา USD ในตลาดมืดแตกต่างจากราคาทางการลดลง และหากวิสาหกิจของเวียดนามปล่อยเงิน USD ที่ถือไว้ให้กลับเข้าสู่ระบบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะมีเสถียรภาพมากขึ้นจะทำให้ผู้นำเข้าสามารถตัดสินใจที่จะนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

(2) ราคาสินค้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

แม้ว่าในทางทฤษฎี การลดค่าเงินด่องจะทำให้สินค้าที่นำเข้ามีราคาสูงขึ้น แต่ตลาดเวียดนามต่างออกไปเพราะเดิมสินค้านำเข้าก็มีราคาสูงอยู่แล้วเนื่องจากการกำหนดราคาขายได้อิงอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดซึ่งสูงถึงเกือบ 20,000 ด่อง/USD การประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยน มีผลให้ตลาดเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาสินค้านำเข้าแม้จะมีราคาสูงขึ้นบ้าง แต่ก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น

ผลเสีย

1. อาจมีผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคเวียดนามว่าสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และหันไปใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น

2. เป็นภาระต่อผู้นำเข้าสินค้าในประเทศเวียดนาม เพราะต้องจ่ายเงินดอลลาร์ในการชำระค่าสินค้ามากขึ้น เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนทางการปรับสูงขึ้น ( แต่ผลดีคือเป็นต้นทุนที่สามารถลงบัญชีได้ )

ผลต่อความสามารถในการแข่งขันการส่งออกในตลาดโลก

แม้จุดประสงค์หลักของรัฐบาลเวียดนามในการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คือสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและธุรกิจในประเทศ แต่การส่งออกสินค้าของเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวด้วย คือสามารถ quoted ราคาส่งออกเป็น USD ได้ถูกลงโดยเฉพาะสินค้าที่มีอัตราการใช้ local content สูง เช่นสินค้าเกษตร ทำให้ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่มีอัตราการใช้ local content ต่ำเช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาจไม่ได้รับประโยชน์เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบในราคาสูงเช่นกัน

ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่พึ่งพาการส่งออกและมีสินค้าหลายชนิดที่มีเวียดนามเป็นคู่แข่งขัน เช่น ข้าว อาหารทะเล ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น การลดค่าเงินด่องจึงทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบด้านราคาให้กับสินค้าเวียดนามในตลาดโลก

ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติของเวียดนามปฏิเสธว่าการดำเนินการครั้งนี้มิใช่เป็นการลดค่าเงินด่อง แต่เป็นการปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับสภาพความจริงหลังพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และดุลชำระเงิน โดยมั่นใจว่าเพดานอัตราแลกเปลี่ยน ณ 18,500 ด่อง/USD เป็นอัตราที่มีความเหมาะสมที่จะสร้างเสถียรภาพให้ตลาดได้

นอกจากการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามกำลังทบทวนรายการสินค้านำเข้า เพื่อระบุว่าสินค้าใดที่ไม่จำเป็นแต่มีผลต่อดุลการค้า เพื่อหามาตรการลดการนำเข้าต่อไป ซึ่งมาตรการนี้น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศเวียดนามมากกว่า

สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ