บอร์ดบีโอไออนุมัติลงทุนเพิ่มอีก มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท ส่งผลยอดรวมอนุมัติลงทุน 121 โครงการ เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Tuesday August 19, 2014 11:33 —สำนักโฆษก

บอร์ดบีโอไอ อนุมัติเพิ่มอีก 15 โครงการ เงินลงทุนกว่า 40,000 ล้าน ครอบคลุมทั้งกลุ่มพลังงานทดแทน ชิ้นส่วนยานยนต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ส่งผลให้ยอดรวมการอนุมัติลงทุน มีจำนวน 121 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมการลงทุน” เล็งออกมาตรการสำคัญ ช่วยเอสเอ็มอีไทย – ส่งเสริมลงทุนชายแดนใต้

วันนี้ 19 สิงหาคม 2557 เวลา 15.00 น. ณ สโมสรทหารบก เทเวศร์ นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ ว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมบอร์ดครั้งที่ 3 ภายหลัง คสช.ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 โดยที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดบีโอไอแล้วรวม 106 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 278,301.5 ล้านบาท ซึ่งหากรวมผลการประชุมครั้งนี้ก็จะมีโครงการได้รับการอนุมัติรวม 121 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท

สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 40,538 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.บริษัท พี.เอส.ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขยายการผลิตเนื้อสุกรชำแหละ กำลังการผลิต 106,920 ตันต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,736 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

2.บริษัท มอนเด นิสซิน (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน กำลังผลิตปีละประมาณ 24,840 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,030.5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี

3.บริษัททรัพย์ทิพย์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายการผลิตเอทานอล 99.5% จากมันสำปะหลังกำลังการผลิต 99,000,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,588 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

4.นายทัพชัย ผาณิตพิเชฐวงศ์ ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเอทานอล 99.5% จากกากน้ำตาล กำลังการผลิต 60,000,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

5.บริษัทราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเอทานอล 99.5% จากมันสำปะหลัง กำลังการผลิต 108,900,000 ลิตรต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,046.8 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

6.บริษัท อีซูซุเอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล กำลังผลิต 185,000 เครื่องต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,132.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ

7. บริษัท กัลฟ์ เอ็นแอลแอล 2 จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,172 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เหมราช ระยองที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดระยอง

8. บริษัท กัลฟ์ บีแอล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,082 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

9. บริษัท กัลฟ์ บีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,159 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

10. บริษัท กัลฟ์ เอ็นพีเอ็ม จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้า 133 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,148 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท เหมราช สระบุรี จังหวัดสระบุรี

11. บริษัท บัวใหญ่ ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ประเภท เปลือกไม้ และเศษไม้สับ กำลังการผลิต 55 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,920 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

12. บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ที่นำมาจากขยะในชุมชนพื้นที่ กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 968.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย

13. บริษัท เค.มอเตอร์สปอร์ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการสนามแข่งยานยนต์ ขนาดความยาว 4,554 เมตรเพื่อให้บริการเช่าสนามและอุปกรณ์ในการจัดการแข่งขันหรือทดสอบสมรรถนะของค่ายรถยนต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ตำบลอีสาณ จังหวัดบุรีรัมย์

14. บริษัท พรีเชียส โอปอลส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางเรือ ให้บริการรับบรรทุกสินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ไม้ซุง เงินลงทุนทั้งสิ้น 876.80 ล้านบาท

15. บริษัท พรีเชียส รูบีส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางเรือให้บริการบรรทุกสินค้าทางการเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ไม้ซุง เงินลงทุนทั้งสิ้น 876.80 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติการขอแก้ไขโครงการจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัทโตโยโตมิ ออโต้ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วน โลหะ ปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ โดยจะเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ “แม่พิมพ์” กำลังการผลิต 100 ชุดต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหรกรมทีเอฟดี จ.ฉะเชิงเทรา

2.บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ โดยลงทุนเพิ่มและแก้ไขกรรมวิธีการผลิตหม้อน้ำรถยนต์ (RADIATOR) กำลังผลิต 1,800,000 ชุดต่อปี และชิ้นส่วนหม้อน้ำรถยนต์ เช่น CORE, TUBE, TANK และ BLOWER เป็นต้น กำลังการผลิต 42,490,000 ชิ้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 168 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของ “ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี” (พ.ศ. 2558 – 2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ

สำหรับนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมที่ครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) เป็นการส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีการจัดลำดับความสำคัญมากขึ้น (Focus & Prioritized) และมีการทบทวนบัญชีประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยยังคงกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนออกเป็น 7 กลุ่มเช่นเดิม แต่จะเน้นประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการวิจัยและพัฒนาหรือการออกแบบ รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 2) อุตสาหกรรมแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 3) อุตสาหกรรมเบา 4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 5) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 6) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ และ7) อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค

สำหรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมจะมี 2 ประเภท คือ สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) คือ การให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามประเภทของกิจการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ที่จะให้เพิ่มเติมสำหรับโครงการที่มีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากขึ้น ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะขั้นสูง การพัฒนาผู้รับช่วงการผลิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกระบบการส่งเสริมที่อิงกับเขตพื้นที่ (เขต 1-3 เดิม) ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) เป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters) เพื่อสร้างการรวมกลุ่มใหม่ของการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของValue Chain ซึ่งคณะกรรมการฯ จะกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมเป็นรายกรณี

ขณะเดียวกันภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บทบาทของบีโอไอจะต้องให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (Inbound Investment) และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Outbound Investment) ซึ่งเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่จำเป็นเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากรในประเทศ แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะโอกาสจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเป็นการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ลำดับ 1 อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ลำดับ 2 จีน อินเดีย และอาเซียนอื่นๆ ลำดับ 3 ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา

นายอุดมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยกระตุ้นให้กิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน 2. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้พลังงานทดแทน 3. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4.ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 5. ลงทุนเพิ่มด้านการวิจัย พัฒนา และการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสตูล รวมทั้งพื้นที่ในอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาด้วย

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ข้อมูล:ศูนย์บริการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ