พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday August 21, 2014 16:55 —สำนักโฆษก

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ครั้งที่ 1/2557 โดยมี นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ นายชูศักดิ์ เกวี นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557

พลเอกอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตามที่ คสช. ได้เห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ และเห็นชอบแนวทางการพัฒนาในระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2557 และปี 2558 ประกอบด้วย การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประตูการค้าเมืองหลักในภูมิภาค กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง แล้วนั้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหารือในเรื่องการจัดทำแผนงาน/โครงการในระยะเร่งด่วนปี 2557 และปี 2558 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะดำเนินการครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนแม่บทให้เชื่อมโยงทุกเส้นทางภายในประเทศ เชื่อมโยงด่านชายแดนทุกด่าน เพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ กล่าวว่า แผนงาน/โครงการในระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2557 และปี 2558 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับประตูการค้าที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และท่าอากาศยานแม่สอด การเชื่อมโยงด่านชายแดนที่สำคัญ 6 ด่าน และระบบถนนเชื่อมโยงประตูการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปี 2557 มีงบประมาณสำหรับดำเนินการประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2558 จะใช้งบประมาณสำหรับแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วนประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ