สธ.เผยผู้อยู่ในข่ายสอบสวนอีโบลา รพ.ราชวิถี อาการดีขึ้น เจาะเลือดตรวจครั้งที่ 2 เช้าวันนี้

ข่าวทั่วไป Monday September 15, 2014 17:15 —สำนักโฆษก

กระทรวงสาธารณสุขเผยอาการผู้อยู่ในข่ายสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่โรงพยาบาลราชวิถี อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ ไอน้อยลง กินอาหารได้ แพทย์เจาะเลือดตรวจซ้ำครั้งที่ 2 จะทราบผลคืนวันนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุด 14 กันยายน 2557 มีผู้ป่วย 4,366 ราย เสียชีวิต 2,218 ราย การระบาดยังขยายตัวต่อเนื่องใน 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน ส่วนกรณีการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสอีโบลานั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่มีผลต่อการติดต่อหรือการรักษา

วันนี้ ( 15 กันยายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ผู้อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2557

แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของผู้อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ ตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันนี้ อาการดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีไข้ ไอน้อยลง มีเพียงเสมหะสีขาวและน้ำมูกใสๆ ช่วยเหลือตัวเองได้ดี รับประทานอาหารได้ เดินไปเดินมาได้ตามปกติ สรุปว่าอาการดีขึ้น เช้าวันนี้ แพทย์ได้เจาะเลือดส่งตรวจหาการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซ้ำ เป็นครั้งที่สอง ซึ่งนับเป็นวันที่ 5 หลังจากเริ่มมีอาการไข้ โดยส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะทราบผล ในคืนวันนี้ ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการตรวจหาสาเหตุอื่นด้วย ไม่พบว่าติดเชื้อมาลาเรีย หรือไข้เลือดออก และหากผลตรวจการติดเชื้ออีโบลาครั้งที่สอง เป็นลบก็จะยืนยันว่าไม่ได้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างแน่นอน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้แบ่งพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไวรัสอีโบลา ออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ประเทศที่กำลังมีระบาด เช่น กินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน 2.ประเทศที่มีพรมแดนติดกันหรือประเทศที่มีผู้ป่วยแต่การระบาดยังอยู่ในวงจำกัด เช่น เซเนกัล และ 3.ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าสองระดับแรก สถานการณ์โรค ณ วันที่ 14 กันยายน 2557 มีรายงานผู้ป่วยอีโบลา 4,366 ราย เสียชีวิต 2,218 ราย ดังนี้ กินี ป่วย 861 ราย เสียชีวิต 557 ราย ไลบีเรียป่วย 2,081 ราย เสียชีวิต 1,137 ราย เซียร์ร่าลีโอน ป่วย 1,424 ราย เสียชีวิต 524 ราย ไนจีเรีย ป่วย 21 ราย เสียชีวิต 8 ราย และเซเนกัล ป่วย 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสถานการณ์ที่ไลบีเรียมีความรุนแรงมากที่สุด ส่วนในไนจีเรียและเซเนกัล สถานการณ์สามารถควบคุมได้ดีกว่า

ในส่วนของประเทศไทย ยังไม่พบผู้ติดเชื้ออีโบลา ผลการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบาด ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ถึง 14 กันยายน 2557 รวม 1,338 คน มีผู้เดินทางที่อยู่ในเกณฑ์ต้องติดตามอาการ 21 วัน รวม 529 คน ในระยะที่ผ่านมาพบผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคเพียง 2 ราย คือ หญิงชาวกินี และผู้ป่วยที่กำลังรักษาที่ โรงพยาบาลราชวิถี

นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงกรณีที่นักวิทยาศาสตร์พูดถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอีโบลาว่า โดยธรรมชาติเชื้อไวรัสทุกชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทีละเล็กทีละน้อยอยู่เสมอ แต่ในขณะนี้เชื้อไวรัสอีโบลา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่จะถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ ซึ่งจะมีผลต่อการแพร่เชื้อหรือต่อการรักษา นักวิทยาศาสตร์จะต้องศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคต่างๆอยู่เสมอ และตั้งข้อสังเกตอยู่เป็นระยะ

นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปอาฟริกาด้านตะวันตก ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง การระบาดค่อนข้างเร็วในประเทศ ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน เนื่องจากระบบการดูแลผู้ป่วยและการควบคุมโรคยังมีข้อจำกัดมาก เช่น โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ ที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติให้แก่ประเทศที่กำลังมีการระบาด ให้ได้มากขึ้น

สำหรับในส่วนของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างไกลพื้นที่ระบาด ยังมีความเสี่ยงน้อย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินความเสี่ยงเป็นระยะๆ แต่ประเทศไทยก็กำลังเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ตามยุทธศาสตร์และมาตรการที่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยเน้นหนักที่การเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด และติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน หลังจากออกจากประเทศที่มีการระบาด ในด้านการดูแลผู้ที่อยู่ในข่ายสอบสวนหรือสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์ เตรียมความพร้อมดูแล โดยได้ฝึกอบรมบุคลากร จัดหาวัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันกำลังพัฒนาห้องปฏิบัติการชันสูตรของโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ด้วย ขณะนี้ไทยมีห้องตรวจปฏิบัติการเพื่อชันสูตรการติดเชื้ออีโบลา 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรค หรือทีม เอสอาร์อาร์ที (SRRT) ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆดังกล่าว ดำเนินการโดยความร่วมมือเป็นอย่างดีของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้ง กองทัพ และกระทรวงมหาดไทย ในภาพรวมนับว่าการเตรียมความพร้อมของประเทศไทย มีความก้าวหน้าด้วยดี

15 กันยายน 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ