นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2/2557

ข่าวทั่วไป Friday September 19, 2014 16:35 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2/2557 เร่งรัดขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคายางพารา พัฒนายางพาราทั้งระบบ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสินค้ายางพาราเพื่อเป็นศูนย์กลางปฏิบัติงานแก้ไขปัญหายางพารา

วันนี้ (19 ก.ย.57) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 2/2557 โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรแห่งชาติ และนายอภิชาติ พันธ์พิพัฒน์ นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร สรุปสาระสำคัญดังนี้

ตามที่การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 มีมติอนุมัติในหลักการแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ที่ประชุม กนย. วันนี้จึงได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานและพิจารณาร่วมกันในรายละเอียดการปฏิบัติ กระบวนการ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ สำหรับแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบมีมาตรการที่ดำเนินการทั้งหมดรวม 12 มาตรการ/โครงการ ซึ่งมาตรการเร่งด่วนคือมาตรการบริหารจัดการสต็อกยางที่องค์การส่งเสริมการทำสวนยางได้ไปดำเนินการตามระเบียบแล้ว โดยวันนี้ที่ประชุม กนย. ได้รับทราบความก้าวหน้าใน 11 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถลดอุปทานในระบบตลาดลงได้ และขณะนี้มีสถาบันเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้วเป็นจำนวนมาก โดยจะเร่งดำเนินมาตรการโดยด่วน 2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในกลุ่มโรงงานแปรรูป ให้ไปขยายกำลังการผลิต/เพิ่มประสิทธิภาพในการแปรรูปให้มากขึ้น ที่ได้เตรียมความพร้อมแก่สถาบันเกษตรกรเป้าหมาย 245 แห่งเรียบร้อยแล้ว 3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต เช่น การทำยางล้อ ถุงมือยาง ยางยืด ฯลฯ ที่ขณะนี้ธนาคารออมสินได้แจ้งรายละเอียดของโครงการฯ ไปยังสาขาทุกแห่งเพื่อให้พร้อมรับสมัครผู้ประกอบการฯ โดยทั้ง 3 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จะเร่งรัดขับเคลื่อนเป็น 3 โครงการแรกเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราในปัจจุบัน เพื่อดึง Supply ส่วนเกินจากตลาดเข้ามาในระบบทำให้ Supply ลดลง

4. โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 5. โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออกยางพารา 6. โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ/โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้สนับสนุนมาตรการนี้ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 7. โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ที่เป็นโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราเพื่อส่งเสริมให้เกิดงานวิจัย ที่คาดว่าจะสามารถจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหหกรรมยางได้ในเร็ว ๆ นี้ 8. โครงการควบคุมปริมาณการผลิต ที่สนับสนุนการโค่นยางเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมทั้งการควบคุมการปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะเร่งดำเนินการโดยเฉพาะการควบคุมพื้นที่ปลูกยางที่มีการขยายบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า 9. โครงการลดต้นทุนการผลิต 10. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 11. โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการที่ 9-11 เป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้ผลิตยางคุณภาพดี โดยใช้ยางพันธุ์ดีได้ผลผลิตที่สูงกว่าเดิม สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มเป้าหมายจำนวนปลูกพืชแซม ซึ่งเป็นหลักการที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นว่าในสวนยางจะต้องมีรายได้เสริมเพิ่มเติมจากรายได้ปกติที่ปลูกยาง

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการควบคุม กำกับ และเร่งรัดงานทั้งหมด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการสินค้ายางพาราเพื่อเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยางพารา รวมทั้งประสานติดตามสถานการณ์ด้านยางพารา พร้อมทั้งเสนอแนะการแก้ปัญหาเรื่องยางพาราทั้งหมด โดยจะได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ มีหัวหน้าส่วนราชการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ