200 บริษัทลดต้นทุนได้ผลกว่า 1.6 พันล้าน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน สร้างโอกาส พัฒนาอาชีพ

ข่าวทั่วไป Thursday September 25, 2014 16:17 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือสถานประกอบกิจการใน 10 อุตสาหกรรมรวม 200 แห่งทั่วประเทศ สภาอุตฯ ตั้งทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา ร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ยึดหลัก Logistic & Supply chain ปรับ 4 กระบวนงาน ทั้งวางแผนการผลิต ปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียในวงจรการผลิต และจัดการคลังสินค้า ดำเนินการ 6 เดือน ลดต้นทุนได้ผลกว่า 1.6 พันล้านบาท ตั้งเป้าปี 2558 ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมและลดต้นทุนได้ผลอีกเท่าตัว ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต่างเห็นพ้องว่า มิติการพัฒนาฝีมือแรงงานจะมุ่งเน้นแต่การเพิ่มทักษะให้แรงงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจจึงจะเป็นภาพที่สมบูรณ์

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีปิดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการ ณ ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ว่า ปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าเกษตร,ยานยนต์ ชิ้นส่วน โลหะ,ท่องเที่ยว บริการ,เฟอร์นิเจอร์,สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ,ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ,ผลิตภัณฑ์สุขภาพ,ก่อสร้าง,อัญมณี เครื่องประดับ และโลจิสติกส์ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแหล่านี้อยู่ในกลุ่มอยู่ในกลุ่ม SMEs ขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความต้องการจะลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ดังนั้นโครงการนี้สถานประกอบการจะได้รับประโยชน์ คนทำงานก็ได้รับประโยชน์ด้วย โดยการใช้หลัก Logistic & Supply chain มาช่วยในการวิเคราะห์งานและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การขจัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น การรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนเข้าไว้ด้วยกัน การปรับลำดับขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุดและเป็นการเคลื่อนย้ายที่มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ที่คอยให้คำปรึกษาและออกตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการดังกล่าวจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมาในด้านการสร้างโอกาสอาชีพและการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยให้ตลาดแรงงานทั้งระบบมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน และเร่งพัฒนากำลังคนให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในอุตสาหกรรมด้านการเกษตร และธุรกิจบริการ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ได้บัญญัติสาระสำคัญไว้ว่า นายจ้างในสถานประกอบกิจการจะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานลูกจ้างของตนตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ลูกจ้าง 100 คนต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้อย่างน้อย 50 คน สำหรับโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานฯ ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาใน 4 กระบวนงานสำคัญ ได้แก่ การวางแผนการผลิต การปรับปรุงกระบวนการผลิต การลดการสูญเสียในวงจรการผลิต และการจัดการคลังสินค้า โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษา อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ กพร.ทำงานร่วมกับนายจ้างและสถานประกอบกิจการ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการ 6 เดือน สถานประกอบกิจการ 200 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง1,682 ล้านบาท เช่น บริษัทเอ็มทีเอส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เร้นทัล จำกัด สามารถลดเวลาการผลิตลงได้ถึง 65.42% ส่งผลให้เพิ่มผลิตภาพมากขึ้นเป็น 2 เท่าซึ่งเป็นการการันตีความสำเร็จของโครงการเป็นอย่างดี ทั้งนี้จะดำเนินการต่อไปในปี 2558 ซึ่งสถานประกอบกิจการใดประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้โดยตรงที่หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

ด้านคุณเจต เยาวภา ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท ฮอนด้าโลจิสติกส์เอเชีย จำกัด ผู้ประกอบกิจการขนส่งชิ้นส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีพนักงานราว 2 พันคน ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นครั้งแรก เพราะเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อพนักงานและโรงงาน สามารถนำไปใช้ได้จริง ส่วนขั้นตอนในการดำเนินการเริ่มต้นจากการประชุม ดูหน้างานเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา รับคำแนะนำจากคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จากนั้นนำวิธีการที่ได้รับคำแนะนำมาประชุมให้ความรู้แก่พนักงานและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้เกิดความสามัคคีในองค์กร พนักงานได้มีส่วนร่วมกับองค์กร ทำให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เช่น ขั้นตอนการหาสินค้าลดลง การออกแบบชั้นวางหาง่ายขึ้น ขณะเดียวกันทำให้พนักงานสามารถทำงานได้มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

ส่วนคุณวีรศักดิ์ เสริมประภาศิลป์ ผู้จัดการบริษัท เอสพีเอส กรุ๊ป จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพนักงาน 1,800 คน ผลจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวทำให้บริษัทได้ลดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยปีละ 20% ซี่งสอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ ทำให้พนักงานมีความเข้าใจถึงผลที่ได้รับค่อนข้างดี สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรทำให้บุคลากรได้ค่าแรงานสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความสามารถมากขึ้น ส่วนองค์กรมีการบำรุงรักษาเครื่องจักร เมื่อคนมีแนวความคิดเรื่องเทรนด์เพื่อเพิ่มศักยภาพของคน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น อย่างอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ยังมี Demand ของตลาดในแถบเอเชีย เช่น จีน เกาหลี อินเดีย ก่อนหน้านี้ตลาดแถบยุโรปค่อนข้างซบเซา แต่ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ดังนั้นโดยภาพรวมโครงการดังกล่าวสามารถตอบโจทย์และมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบกิจการได้มีระบบบริหารจักการที่ดีขึ้น

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ