รมว.วท. มุ่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตอบสนองตลาดแรงงานและสังคม

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 17:54 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมการอภิปรายระดมความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง “กำลังคน..หัวใจของความสามารถในการแข่งขันของไทย” ในการประชุมประจำปี 2557 ของ สคช. “การพัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ “การพัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศไทย"โดยพิจารณาประเด็นสำคัญของการพัฒนาคนในทุกมิติ และกรณีศึกษาที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 ณ ห้องแซฟไฟร์ 205 ศูนย์ประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

การวิเคราะห์กำลังคนในวัยแรงงานระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน และที่อยู่ในตลาดแรงงาน ครอบคลุมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพิจารณาความต้องการกำลังคนที่รองรับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในอนาคต สถานภาพและประเด็นท้าทายของการพัฒนากำลังคนในปัจจุบัน ข้อเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนและพัฒนากลไกระบบการพัฒนากำลังคน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ รวมถึงกรณีตัวอย่างการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวถึงนโยบาย 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเน้นการพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองกับตลาดแรงงานหรือสังคม เรียกว่า “Demand side Human Resource Development” ดังนี้

1.ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างความรู้ให้กับสังคม ในระดับที่ทัดเทียมกับอารยประเทศ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนรวมกันเป้าหมายคือ 1% ของ GDP เท่ากับ 110,000 ล้านบาท การที่จะไปถึงเป้าหมายเป้าหมายดังกล่าวได้ ภาคเอกชนจะต้องลงทุนมากกว่า โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน

2.ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในปัจจุบันแม้ว่าการเกษตรของไทยจะสามารถดำเนินไปได้แต่แรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่ยอมเข้าสู่ภาคการเกษตร ส่วนแรงงานที่มีอยู่เดิมก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไขในส่วนนี้ให้ได้

3.ส่งเสริมด้านการศึกษาโดยเฉพาะ Gifted Education หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทำได้ดีมาก แต่ต้องหาวิธีที่จะต้องยกระดับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อพัฒนาความรู้สู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป และส่วนระดับอาชีวศึกษา ได้ทำโครงการนำร่องมา 4 - 5 ปีแล้ว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ มาเสริม เช่น มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยในด้านการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับครูอาชีวะต่อไป

4.นักวิจัยกับกำลังคนในระดับปริญญาเอก เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิจัยในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสาขาที่ต้องการแตกต่างกันไป โดยค่าเฉลี่ยนักวิจัยไทยกับจำนวนประชากรของประเทศอยู่ที่ 9/10,000 คน ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนให้ถึง 15/10,000 คน

5.โครงการที่มีขนาดใหญ่ของประเทศ หรือ Mega Project จำเป็นต้องมีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถในสาขานั้นๆ ให้มีคุณภาพและศักยภาพเพียงพอต่อความต้องการ เช่น ระบบราง ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในการเตรียมกำลังคนมากว่า 2 ปีแล้ว

รมว.วท. กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราต้องเริ่มทำงานด้วยกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนให้มากกว่านี้ เรามีผู้ประกอบการอยู่ 3 กลุ่มคือ 1.บริษัทข้ามชาติ 2.บริษัทไทยยักษ์ใหญ่ และSMEs เหล่านี้ต้องการคนทั้งสิ้น แต่ต้องการ packet ของคนที่แตกต่างกัน ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีกลไกในการเชื่อมโยงที่เข้มข้นกว่านี้ โดยตัวกลางคือรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน”

ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง

วีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร. 02 333 3732 โทรสาร 02 333 3834

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ