คลอดแล้ว "ศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน"แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 30, 2014 17:37 —สำนักโฆษก

วันนี้ 29 กันยายน 2557 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน ให้บริการข้อมูลน้ำระดับชาติแบบเคลื่อนที่ แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย พร้อมปฏิบัติการรับมืออุทกภัยในปีนี้

ที่ผ่านมาการประมวลสถานการณ์และให้บริการข้อมูลน้ำ อาศัยระบบสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อรับ-ส่งข้อมูล แต่ทุกครั้งที่เกิดภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารจะถูกตัดขาดจากส่วนกลาง ทำให้การแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพื่อบริหารความเสี่ยงดังกล่าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. จึงได้พัฒนา ศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน (Mobile Data Center) ซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของ “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ” ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่บัญชาการ และประมวลผลได้ทุกสถานการณ์ สนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ให้บริการข้อมูลน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีภาวะปกติ ใช้เป็นระบบสำเนาข้อมูล (Hot Site) สำหรับฐานข้อมูลน้ำระดับชาติสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใช้วิเคราะห์ วางแผนพัฒนา และบริหารแผนงาน ปัจจุบันศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ ประจำการอยู่บริเวณอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

ศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติการด้วยระบบสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม รองรับปฏิบัติงานในทุกสถานการณ์ ประกอบด้วยรถพ่วง 4 ส่วน คือ (1) รถหัวลากขนาดใหญ่ (2) ห้องปฏิบัติการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่รองรับข้อมูลได้มากกว่า 30 เทอราไบท์หรือเท่ากับดีวีดี 6,500 แผ่น (3) ตู้ระบบหล่อเย็นของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง และ (4) ตู้ระบบไฟสำรองที่ทันสมัย เทียบเท่ากับระบบของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Generator) ควบคู่กับเทคโนโลยีไฟล์วีล (Flywheel technology) ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ และประหยัดพลังงาน ในกรณีที่ไฟฟ้าดับสามารถทำงานได้ต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ มีระบบกล้องวงจรปิดรอบตู้ 15 ตัว มีระบบควบคุมการเข้า-ออก (Access ConTrol) และระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (Auto Fire Suppression System)

เมื่อศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ ไปอยู่ในพื้นที่บัญชาการแล้ว ต้องทำการสำรวจข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมเพื่อให้การประมวลผลแม่นยำขึ้น โดยจัดชุดสำรวจเคลื่อนที่เร็วทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ประกอบด้วย (1) รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ 6 คัน ลุยน้ำได้สูงถึง 80 เซนติเมตร และติดตั้งระบบ Mobile Mapping System (MMS) เพื่อวัดความสูงของระดับถนน คันกั้นน้ำ แบบอัตโนมัติขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (2) เรือตรวจการณ์ 1 ลำ ติดตั้งอุปกรณ์วัดความลึกท้องน้ำด้วยคลสียงพร้อมระบบ GPS ประมวลผลอัตโนมัติ (3) เครื่องบินสำรวจอัตโนมัติขนาดเล็ก ติดตั้งกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีหน่วยงานที่เป็นกำลังสำคัญ คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ปัจจุบันได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งบูรณาการการทำงานข้ามกระทรวงร่วมกับหน่วยงานต่างๆกว่า 30 หน่วย และนำเสนอคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ณ ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เดิมเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิตทำสวนส้ม แต่ประสบปัญหาโรคระบาด และสภาพดินเปรี้ยวไม่เหมาะสม เกษตรกรจึงเริ่มหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและน้ำท่วมขังได้นานกว่า 1 เดือน โดยได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ต่อมา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก. ได้เริ่มทำงานร่วมกับชุมชน ใช้แผนที่ อุปกรณ์ GPS สำรวจพื้นที่ วัดระดับความสูงถนน คลอง นำไปสู่การจัดทำโครงการ แผนงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและพัฒนาพื้นที่คลองรังสิต เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ ซึ่งเกษตรกรไม่ได้รับผลเสียหายจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 พบว่าพื้นที่ คลอง 8 9 10 สามารถกักเก็บน้ำและหน่วงน้ำไว้ตามคลองหลัก คลองซอย และร่องสวนปาล์ม ที่เป็นเสมือนแก้มลิง ทำให้ผลผลิตปาล์มเพิ่มขึ้น ถือเป็นแก้มลิงที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

ส่วนที่ควรขยายผลคือบ่อดิน จำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มน้ำต้นทุน แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ หากมีโรงหีบปาล์มในชุมชน ก็จะสามารถป้อนวัตถุดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลในจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็วและลดต้นการขนส่งน้ำมันปาล์มได้อย่างมาก

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ภาพข่าวและวีดิโอ :นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และนางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ