พม. ช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสที่อินโดนีเซีย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 2014 17:01 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๑ ต.ค. ๕๗) เวลา ๑๗.๓๐ น. นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส จับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน ๖ คน โดยเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้อำนวยความสะดวกหลังจากเดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า คณะผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส จับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน ๖ คน ซึ่งภารกิจการนำคนไทยทั้ง ๖ คน กลับมายังประเทศไทย ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จแล้ว สำหรับการลงพื้นที่อินโดนีเซียครั้งนี้ พบว่า ยังมีแรงงานประมงไทยอยู่ในกระบวนตรวจสอบของทางการอินโดนีเซียรอการส่งกลับอีก ๔ คน และมีการสำรวจพบแรงงานประมงไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังหลบซ่อนตัวอยู่บนเกาะอัมบนอีกจำนวน ๑๒ คน ซึ่งได้นำข้อมูลดังกล่าวส่งต่อให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินโดนีเซีย รับไปดำเนินการตรวจสอบและนำคนไทยชุดนี้เข้าสู่กระบวนการส่งกลับต่อไป

นายพุฒิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีคนไทยทั้ง ๖ คน ที่เดินทางกลับมาประเทศไทยได้แล้ว ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เนื่องจากบางรายมีครอบครัวอยู่อินโดนีเซีย โดยจะกลับมาประเทศไทยเพื่อทำบัตรประชาชนและพาสปอร์ตแล้วจะกลับมาอยู่กับครอบครัวที่อินโดนีเซียอีก บางรายสมัครใจมาทำงานในเรือแต่ไม่ได้ค่าแรงตามที่ตกลง และมี ๒ คนที่ถูกจี้ มอมยาและนำไปลงเรือ ซึ่งจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเพื่อคัดแยกเหยื่ออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พบว่าทุกคนที่ไปทำงานใช้หนังสือคนประจำเรือ(seaman book) ปลอม โดยมีกระบวนการนายหน้าที่นำคนลงเรือและรับเงินไปล่วงหน้า ลูกเรือต้องทำงานใช้หนี้และนายจ้างเก็บ seaman book ไว้ และเมื่อมีปัญหากับไต๋เรือและตกเรือ จึงต้องอยู่แบบหลบซ่อน กลัวตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับและส่งลงเรือไปเจอสภาพเดิมอีก

นายพุฒิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนแนวการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยหลังเดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะดำเนินการดังนี้ ๑) ติดตามเยี่ยมครอบครัว เพื่อประเมินสภาพปัญหาความต้องการในการช่วยเหลือ และเตรียมการส่งกลับคืนสู่ครอบครัว ๒) จัดทีมสหวิชาชีพ เพื่อคัดแยกผู้เสียหาย ๓) กรณีที่เป็นผู้เสียหายจะมีการแจ้งสิทธิ และจัดให้เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองพัฒนาอาชีพ ยกเว้นผู้เสียหายต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา จะประสานหน่วยงานในพื้นที่ติดตามให้การช่วยเหลือ ๔) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ และ ๕) การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้การช่วยเหลือด้านการดำเนินคดี

กับผู้กระทำผิด ตลอดจนการช่วยเหลือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด

“ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบเงินจากกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้แรงงานประมงไทยทั้ง ๖ คน รายละ ๖,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นดำเนินการช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานกับครอบครัวมารับที่สนามบิน และให้เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป” นายพุฒิพัฒน์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ