สวทช. ดึงต่างชาติแสดงงานวิจัยและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสัญญาณดาวเทียมความแม่นยำสูง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 17:47 —สำนักโฆษก

สวทช. ดึงต่างชาติแสดงงานวิจัย และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสัญญาณดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง สำหรับการเตือนภัยสินามิ การขนส่งอัจฉริยะ โดยนำสัญญาณนำร่องของประเทศต่างๆ มาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2557 มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 95 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย พร้อมสาธิตผลงานวิจัยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนการเกิดพิบัติภัย และเส้นทางการอพยพ ไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดพิบัติภัยด้วยความแม่นยำสูง โดยมี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดฯ ณ โรงแรมเดอะรอยัล พาราไดซ์ โฮเต็ล แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการ Asia Oceania Regional Workshop on GNSS เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Asia Oceania Multi-GNSS Demonstration Campaign เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของโครงการร่วมระหว่างประเทศในการพัฒนาและการใช้งานระบบ Multi-GNSS รวมถึงการหารือในแนวทางการดำเนินการต่อไปในอนาคต ซึ่งการจัดประชุมนี้ได้มีการจัดมาแล้ว 5 ครั้งด้วยกัน โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพทุกปี โดยมีลำดับดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 25-26 มกราคม 2553 ประเทศไทย

ครั้งที่ 2 วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2553 ประเทศออสเตรเลีย

ครั้งที่ 3 วันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2554 สาธารณรัฐเกาหลี

ครั้งที่ 4 วันที่ 8-10 ธันวาคม 2555 ประเทศมาเลเซีย

ครั้งที่ 5 วันที่ 1-3 ธันวาคม 2556 ประเทศเวียดนาม

ในการประชุมครั้งที่ 6 นี้ จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2557 มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 95 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งในด้านการศึกษาและบริษัทเอกชนด้านอิเล็กทรอนิกส์ดาวเทียมนำร่อง ในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปออสเตรเลีย และได้มีการสาธิตผลงานวิจัยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนการเกิดพิบัติภัย และเส้นทางการอพยพ มายังโทรศัพท์มือถือของผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดพิบัติภัยด้วยความแม่นยำสูง จากทีมงานนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น ดังกล่าวด้วย

สำหรับระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite Systems หรือ GNSS) เป็นระบบการให้ข้อมูลพิกัดบนพื้นผิวโลกโดยใช้สัญญาณจากดาวเทียม โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวรับสัญญาณเพื่อคำนวณและแสดงพิกัดตำแหน่งที่ตัวรับสัญญาณตั้งอยู่ ซึ่งจะรู้จักกันในชื่อของ GPS (Global Positioning System) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปโดยใช้ดาวเทียมของประเทศสหรัฐอเมริกา คำว่า GNSS เป็นคำเรียกที่ครอบคลุมกลุ่มดาวเทียมนำร่องที่พัฒนาขึ้นจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

Multi-GNSS เป็นการใช้สัญญาณจากดาวเทียมนำร่องจากประเทศต่างๆ มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้ได้ความแม่นยำที่สูงขึ้น และครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก รวมถึงมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ จากสัญญาณ GNSS ในด้านต่างๆ ได้แก่

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (Disaster Mitigation and Management)

การบริการบอกตำแหน่ง (Location-based Services)

ระบบระบุพิกัดความแม่นยำสูง (Precise Positioning)

ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligence Transportation Systems)

ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนร่วมในโครงการนี้หลายด้าน เช่น การจัดอบรมเผยแพร่ความรู้ด้าน GNSS โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งได้จัดอบรมให้ความรู้ไปควบคู่กับการประชุมในครั้งนี้ด้วย นอกเหนือจากนี้ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค / สวทช.) มีการพัฒนาระบบที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมการขับขี่รถอันก่อให้เกิดอันตราย โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมนำร่องเหล่านี้ ทำให้สามารถรายงานการขับขี่รถที่อันตรายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ก่อนเกิดเหตุอันตรายขึ้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคเอกชนของไทย ที่นำระบบ Multi-GNSS ชนิดความแม่นยำสูงมาติดตั้งในรถแท็กซี่ เพื่อตรวจจับและวิเคราะห์สภาพการจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย ได้สนับสนุนการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้กับนักวิจัย อาจารย์ และผู้ประกอบการได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดการใช้งานระบบ Multi-GNSS จากองค์กรต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีดาวเทียมขั้นสูงต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร. 02 564 7000 ต่อ 71730 , 71728 , 71727 , 71725

E-mail : pr@nstda.or.th

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ