รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ แถลงข่าวความร่วมมือเครือข่ายพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ "ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน"

ข่าวทั่วไป Wednesday October 15, 2014 17:53 —สำนักโฆษก

วันนี้ (15 ตุลาคม 2557) เวลา 10.30 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวร่วมกับ ศ.ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานมูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เรื่อง ความร่วมมือเครือข่ายพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sensors) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ “เครือข่ายพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์” ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มูลนิธิสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน บริษัท แปซิฟิค ไบโอเทค จำกัด และบริษัท โมบิลิส ออโตมาต้า จำกัด ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sensors) ที่พัฒนาโครงการ การผลิตเครื่องเซ็นเซอร์ชีวภาพสำหรับการตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) ซึ่งสามารถแสดงความเป็นไปได้ของการเกิดโรคเบาหวาน และก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้ภายในประเทศ ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเด็นการแถลงข่าว เกิดจากที่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญระดับประเทศ จึงได้เร่งมือให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ฐานรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นจากระดับปานกลางปรับเป็นระดับที่สูงขึ้น โดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงประเทศไทยในอนาคตจะมีจำนวนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ มากขึ้นจากเดิม ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์สาขาสุขภาพและการแพทย์ โดยการนำจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือได้ เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวนกว่า 382 ล้านคนและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประมาณ 280 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2578 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นถึง 592 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนหลักของโรคไม่ติดต่อสูงถึง 40% สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี พ.ศ.2556 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีประมาณ 698,720 คน คิดเป็นอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวาน 1,054.25 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งโรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนมากมักจะพึ่งพาการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลมากกว่าการพึ่งพาตนเอง

โครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือนี้ เริ่มจากการพัฒนาและสร้างเครื่องตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ที่เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคเบาหวาน เนื่องจากพบว่า โรคเบาหวาน (Diabete Millitus, DM) เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sensors) เป็นการผลิตเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด HbA1c แบบพกพา (ขนาดเล็ก) ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ จากการใช้เครื่องมือดังกล่าว ช่วยวัดผลการตรวจกรองและติดตามผลการรักษาที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถนำมาใช้ในการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี Haemoglobin A1c เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและความสามารถของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์ทั้งในระบบ IOS และ android

ทั้งนี้ ยังได้คาดการณ์ไว้ว่าเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แบบพกพา จะเป็นเครื่องมือที่สามารถลดการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและภาครัฐด้านสาธารณสุขได้ เนื่องจากราคาของเครื่องมือดังกล่าว ที่คาดการณ์ไว้ประมาณเครื่องละไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งยังสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยโดยการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์

เผยแพร่โดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ